ไม้ต้น ผลัดใบ แยกเพศร่วมต้น สูงได้ถึง 25 ม. หูใบขนาดเล็ก ใบเรียงเวียนหนาแน่นที่ปลายกิ่ง รูปรีหรือรูปไข่ ยาว 3.5–7 ซม. โคนมีต่อม 2 ต่อม เส้นแขนงใบออกใกล้โคน 1 คู่ ก้านใบยาว 1–3 ซม. ใบอ่อนสีน้ำตาลอมแดง ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงสั้น ๆ คล้ายช่อเชิงลด ออกที่ปลายกิ่ง ช่วงดอกเพศผู้ยาว 25–70 ซม. ดอกออกเป็นกระจุก 5–8 ดอก โคนใบประดับมีต่อม 2 ต่อม ก้านดอกยาว 2–3 มม. ไม่มีกลีบดอก กลีบเลี้ยง 3–6 กลีบ ยาวประมาณ 1 มม. ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 1 มม. ดอกเพศเมียอยู่โคนช่อ มีได้ถึง 13 ดอกในแต่ละช่อกระจุก ก้านดอกยาว 2–4 มม. กลีบเลี้ยง 3 กลีบ ยาว 1–2 มม. ก้านเกสรเพศเมีย 3 อัน ยอดเกสรเพศเมียยาว 2–3 มม. ผลแห้งแตก เส้นผ่านศูนย์กลาง 7–9 มม. มี 3 เมล็ด ติดบนกลางแกน กลม ขนาด 3.5–5 มม.
พบที่อินเดีย พม่า จีนตอนใต้ ไต้หวัน ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรลายู สุมาตรา บอร์เนียว ฟิลิปปินส์ และซูลาเวซี ในไทยพบกระจายห่าง ๆ ทุกภาค ส่วนมากขึ้นตามชายป่า ความสูงถึงประมาณ 1000 เมตร
สกุล Triadica Lour. เดิมอยู่ภายใต้สกุล Sapium sect. Triadica หรือสกุล Excoecaria sect. Triadica มี 3–4 ชนิด ส่วนมากพบในเอเชียตะวันออกและภูมิภาคอินโดจีน ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “tria” สาม ตามจำนวนกลีบเลี้ยงในดอกเพศเมีย และรังไข่มี 3 ช่อง
|
ชื่อพ้อง Sapium cochinchinense (Lour.) Pax & K.Hoffm., Shirakia cochinchinensis (Lour.) Hurus.
|
|
|
ชื่ออื่น ตะเคียนเฒ่า (ภาคตะวันออกเฉียงใต้); ตาตุ่มตรี (ทั่วไป); โพนก, ส้อม (ภาคใต้); สาลีนก (ภาคเหนือ); หญ้าจง, เหยื่อจง (ภาคใต้)
|
|
ตาตุ่มตรี: โคนใบด้านบนมีต่อม 2 ต่อม ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงสั้น ๆ คล้ายช่อเชิงลด ออกที่ปลายกิ่ง ดอกเพศเมียอยู่โคนช่อ (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล, ราชันย์ ภู่มา)
|
|