สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ตะโกนา

ตะโกนา
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Diospyros rhodocalyx Kurz

Ebenaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 15 ม. ใบรูปไข่หรือรูปไข่กลับ ยาว 3–12 ซม. แผ่นใบด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม เส้นแขนงใบข้างละ 5–8 เส้น ก้านใบยาว 2–7 มม. ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อกระจุกสั้น ๆ ตามซอกใบ ก้านดอกยาว 1–2 มม. กลีบเลี้ยงรูประฆัง ยาว 3–4 มม. มี 4 กลีบ แฉกตื้น ๆ ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม มีขนหยาบด้านใน ติดทน ดอกรูปคนโท ยาว 0.8–1.2 ซม. มี 4 กลีบ แฉกตื้น ๆ เกสรเพศผู้ 14–16 อัน รังไข่ที่ไม่เจริญมีขน ดอกเพศเมียออกเดี่ยว ๆ ก้านดอกยาว 2–3 มม. รังไข่มี 4 ช่อง มีขนคล้ายขนแกะ ก้านเกสรเพศเมียมีขนหยาบ เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันมี 8–10 อัน ผลเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5–2.5 ซม. มีขนกำมะหยี่หนาแน่น ผลแก่เกลี้ยง แห้งเปราะ ก้านผลยาว 2–5 มม. กลีบเลี้ยงแฉกลึกเกินกึ่งหนึ่ง ไม่พับงอกลับ เอนโดสเปิร์มมีลาย (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ มะเกลือ, สกุล)

พบที่พม่า และภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และท้องไร่ท้องนา ความสูงไม่เกิน 300 เมตร ผลสุกกินได้คล้ายมะพลับ

ชื่ออื่น   โก (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); ตะโกนา (ทั่วไป); นมงัว (นครราชสีมา); มะโก (ภาคเหนือ); มะถ่านไฟผี (เชียงใหม่)

ตะโกนา: ดอกเพศเมียออกเดี่ยว ๆ ผลเกือบกลม มีขนกำมะหยี่หนาแน่น ผลแก่เกลี้ยง กลีบเลี้ยงแฉกลึกประมาณสองในสามส่วน (ภาพ: ปิยชาติ ไตรสารศรี, ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Phengklai, C. (1981). Ebenaceae. In Flora of Thailand Vol. 2(4): 334–337.