สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ตะแบก

ตะแบกดอกขาว
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Lagerstroemia huamotensis W.J.de Wilde & Duyfjes

Lythraceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น ส่วนมากสูง 4–5 ม. ลำต้นแคระแกร็น หรืออาจสูงได้ถึง 15 ม. เปลือกค่อนข้างหนา ลอกเป็นแผ่นคล้ายเปลือกแบบตะแบก ใบรูปไข่หรือรูปไข่กลับ ยาว 4–10 ซม. แผ่นใบเกลี้ยง ก้านใบยาว 2–4 มม. ช่อดอกออกตามปลายกิ่ง ยาว 2–5 ซม. ก้านดอกเทียมยาว 0.8–1 ซม. หลอดกลีบเลี้ยงเรียบ กลีบรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 5 มม. เกลี้ยง ดอกสีขาว กลีบรูปรีเกือบกลม ยาว 1.2–1.5 ซม. ก้านกลีบยาว 0.8–1 ซม. เกสรเพศผู้วงนอก 10–12 อัน ก้านชูอับเรณูสีม่วง อับเรณูสีดำ วงในสีเขียวอมขาว อับเรณูสีเหลือง รังไข่เกลี้ยง ผลรูปรี ยาว 2–2.5 ซม. หลอดกลีบเลี้ยงรูปรีกว้าง กว้าง 1–1.5 ซม. ยาวประมาณ 1 ซม. กลีบยาว 5–7 มม.

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคเหนือตอนล่างที่ดอยหัวหมด จังหวัดตาก และภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่กาญจนบุรี ขึ้นบนเขาหินปูนที่เปิดโล่ง ความสูง 750–1000 เมตร

ชื่ออื่น   ตะแบกขาว, เสลาหัวหมด (ทั่วไป)

ตะแบกดอกขาว: ดอกสีขาว หลอดกลีบเลี้ยงเรียบ กลีบเลี้ยงเกลี้ยง ก้านชูอับเรณูวงนอกสีม่วง อับเรณูสีดำ วงในสีเขียวอมขาว อับเรณูสีเหลือง (ภาพ: สุคิด เรืองเรื่อ, ปรีชา การะเกตุ)

ตะแบก  สกุล
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Lagerstroemia L.

Lythraceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น กิ่งอ่อนมักเป็นสี่เหลี่ยม ใบเรียงตรงข้ามหรือเกือบตรงข้าม ไม่มีหูใบ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ช่อย่อยแบบช่อกระจุก ใบประดับขนาดเล็ก ร่วงเร็ว ปลายดอกตูมมักมีตุ่ม กลีบเลี้ยงและกลีบดอกส่วนมากจำนวนอย่างละ 6 กลีบ กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอด ผิวเรียบหรือเป็นสัน ติดทน บางครั้งมีริ้วประดับเป็นรยางค์ ดอกสีขาว ชมพู หรือม่วง มีก้านกลีบ เกสรเพศผู้จำนวนมาก ติดบนหลอดกลีบดอก ส่วนมากวงนอกมี 6–12 อัน ก้านชูอับเรณูหนาและอับเรณูใหญ่กว่าอันใน รังไข่ 3–6 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียยาว ยอดเกสรขนาดเล็ก ผลแห้งแตกเป็น 4–6 ซีก เมล็ดจำนวนมาก แบน มีปีกติดที่สันขั้วเมล็ด

สกุล Lagerstroemia มีประมาณ 55 ชนิด พบในเอเชียเขตร้อนและออสเตรเลีย ในไทยมี 18 ชนิด และเป็นไม้ประดับ 1 ชนิด คือ ยี่เข่ง L. indica L. ชื่อสกุลตั้งตามพ่อค้าชาวสวีเดน Magnus von Lagerström (1696–1759) ผู้เก็บตัวอย่างพรรณไม้และเป็นเพื่อนของ Carl Linnaeus อนึ่ง ลักษณะเปลือกของสกุลตะแบกแบ่งได้กว้าง ๆ 3 แบบ คือ เปลือกแบบตะแบก บางลอกเป็นแผ่น เรียบหรือเป็นหลุมตื้น ๆ เปลือกแบบเสลา หนา แตกเป็นร่องตามยาว และเปลือกแบบอินทนิล มีลักษณะกึ่งทั้งสองแบบ

ลักษณะเปลือก: เปลือกแบบตะแบกของ L. floribunda Jack; เปลือกแบบเสลาของ L. loudonii Teijsm. & Binn. (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

ตะแบกเกรียบ
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Lagerstroemia cochinchinensis Pierre

Lythraceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง 25 ม. เปลือกบาง มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดงตามใบอ่อน เส้นแขนงใบด้านล่าง ช่อดอก และหลอดกลีบเลี้ยงด้านนอก กิ่งด้านข้างมักเปลี่ยนรูปเป็นหนาม ใบรูปรีถึงรูปใบหอก หรือแกมรูปไข่ ยาว 4–15 ซม. ก้านใบยาว 0.2–1 ซม. ช่อดอกออกที่ปลายกิ่ง ยาวได้ถึง 30 ซม. ก้านดอกเทียมยาวประมาณ 2 มม. ขยายในผลเล็กน้อย หลอดกลีบเลี้ยงเรียบ ยาวประมาณ 8 มม. กลีบรูปสามเหลี่ยม ยาว 3–4 มม. ด้านในปลายกลีบมีขน ดอกสีชมพู ม่วง หรืออมขาว กลีบรูปรีกว้างเกือบกลม ยาว 1.5–3 ซม. รวมก้านกลีบที่ยาวประมาณ 5 มม. เกสรเพศผู้วงนอก 6 อัน รังไข่มีขนสีขาว ผลรูปรีเกือบกลม ยาว 1.4–1.7 ซม. เกลี้ยงหรือมีขนช่วงปลายผล

พบที่ภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ความสูงถึงประมาณ 1000 เมตร

ชื่อพ้อง  Lagerstroemia collinsae Craib

ชื่ออื่น   โคะกางแอ้ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่); ตะแบกเกรียบ (ชลบุรี, นครราชสีมา); ตะแบกเกรียบแดง (ราชบุรี); เปื๋อยกะแอ่ง (สุโขทัย); เปื๋อยแดง, เปื๋อยเปลือกบาง, เปื๋อยแมว (ภาคเหนือ); เปื๋อยลอกเปลือก (แพร่); ลิงง้อ (จันทบุรี)

ตะแบกเกรียบ: มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดงตามช่อดอก หลอดกลีบเลี้ยงด้านนอก ปลายกลีบด้านใน และปลายผล หลอดกลีบเลี้ยงเรียบ (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)

ตะแบกเกรียบแดง
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Lagerstroemia cochinchinensis Pierre

Lythraceae

ดูที่ ตะแบกเกรียบ

ตะแบกเตี้ย
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Lagerstroemia noei Craib

Lythraceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง 8 ม. เปลือกบาง ใบรูปรี รูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่ ยาว 3–8.5 ซม. แผ่นใบด้านล่างมีขนกระจุกรูปดาวหนาแน่น ก้านใบยาว 3–5 มม. ช่อดอกออกตามปลายกิ่ง ยาว 7–27 ซม. มีขนสั้นนุ่มและขนกระจุกสีน้ำตาลแดง ก้านดอกเทียมยาวประมาณ 2 มม. ขยายในผลเล็กน้อย หลอดกลีบเลี้ยงเรียบ ยาว 5–7 มม. ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม กลีบรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 5 มม. ปลายกลีบด้านในมีขน ดอกสีชมพูอมม่วง กลีบรูปไข่กว้าง ยาว 0.8–1.2 ซม. ก้านกลีบยาวประมาณ 4 มม. เกสรเพศผู้วงนอก 9–11 อัน ชี้ออกระหว่างช่องว่างกลีบดอกด้านเดียว รังไข่มีขนหนาแน่น ผลรูปรีกว้าง ยาวประมาณ 1 ซม. มีขนช่วงปลายผล

พบที่กัมพูชา และลาว ในไทยพบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นตามป่าเต็งรังที่เป็นหินทราย ความสูง 200–350 เมตร ในหนังสือพรรณพฤกษชาติของประเทศไทยระบุว่าอาจเป็นลักษณะที่เป็นต้นเตี้ยของตะแบกเกรียบ L. cochinchinensis Pierre

ตะแบกเตี้ย: ช่อดอกและกลีบเลี้ยงมีขนสั้นนุ่มและขนกระจุกสีน้ำตาลแดง เกสรเพศผู้วงนอก 9–11 อัน ชี้ออกระหว่างช่องว่างกลีบดอกด้านเดียว (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ, ราชันย์ ภู่มา)

ตะแบกเปลือกบาง
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Lagerstroemia duperreana Pierre ex Gagnep.

Lythraceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง 25 ม. เปลือกบาง ใบรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 8–15 ซม. แผ่นใบเกลี้ยง เส้นแขนงใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว 3–5 มม. ช่อดอกยาว 10–20 ซม. เกลี้ยง ก้านดอกเทียมยาว 0.6–1.2 ซม. หลอดกลีบเลี้ยงมีขนกระจุกรูปดาวสั้นนุ่ม มี 12 สัน ไม่ชัดเจน ยาว 5–6 มม. มีติ่งขนาดเล็กระหว่างกลีบเลี้ยง กลีบรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 3 มม. ด้านในปลายกลีบมีขน ดอกสีม่วง กลีบดอกรูปรีกว้างเกือบกลม ยาว 1–1.5 ซม. ก้านกลีบยาวประมาณ 5 มม. เกสรเพศผู้วงนอกมี 6–7 อัน รังไข่เกลี้ยง ผลรูปรีกว้าง ยาว 1.2–1.7 ซม. เกลี้ยง หรือมีขนช่วงปลายผล

พบที่ภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบทางภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นตามป่าดิบแล้งและป่าเต็งรังที่เป็นหินทราย ความสูง 100–400 เมตร แยกเป็น var. saxatilis W.J.de Wilde & Duyfjes ต้นขนาดเล็ก ช่อผลมีจำนวนน้อย ดอกขนาดใหญ่กว่า พบเฉพาะที่อุบลราชธานี

ชื่ออื่น   ตะแบกไข่ (ตราด); ตะแบกเปลือกบาง, ตะแบกใหญ่ (นครราชสีมา)

ตะแบกเปลือกบาง: หลอดกลีบเลี้ยงมีขนกระจุกสั้นนุ่ม มี 12 สัน เห็นไม่ชัดเจน เกสรเพศผู้วงนอก 6–7 อัน ผลรูปรีกว้าง เกลี้ยง (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ, Brigitta E.E. Duyfjes)

ตะแบกใบขน
วันที่ 30 มกราคม 2560

Terminalia pierrei Gagnep.

Combretaceae

ดูที่ เปื๋อย

ตะแบกใหญ่
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Lagerstroemia duperreana Pierre ex Gagnep.

Lythraceae

ดูที่ ตะแบกเปลือกบาง

ตะแบกไข่
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Lagerstroemia duperreana Pierre ex Gagnep.

Lythraceae

ดูที่ ตะแบกเปลือกบาง

ตะแบกไข่
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Lagerstroemia floribunda Jack

Lythraceae

ดูที่ ตะแบกนา

ตะแบกกราย
วันที่ 30 มกราคม 2560

Terminalia pierrei Gagnep.

Combretaceae

ดูที่ เปื๋อย

ตะแบกขน
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561

Lagerstroemia loudonii Teijsm. & Binn.

Lythraceae

ดูที่ อินทรชิต

ตะแบกดำ
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561

Lagerstroemia speciosa (L.) Pers.

Lythraceae

ดูที่ อินทนิลน้ำ

ตะแบกตัวเมีย
วันที่ 31 กรกฎาคม 2560

Lagerstroemia subangulata (Craib) Furtado & Montien

Lythraceae

ดูที่ สมอร่อง

ตะแบกนา
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Lagerstroemia floribunda Jack

Lythraceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง 25 ม. เปลือกบาง ใบเรียงตรงข้าม ส่วนมากรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 6–20 ซม. แผ่นใบค่อนข้างเกลี้ยง ก้านใบยาว 2–7 มม. ช่อดอกยาว 20–50 ซม. มีขนกระจุกสั้นนุ่มหนาแน่น ก้านดอกเทียมยาว 2–4 มม. หลอดกลีบเลี้ยงยาว 5–6 มม. มี 10–12 สัน หรือไม่ชัดเจน มีขนกระจุกสีน้ำตาลหนาแน่น ปลายแยกเป็น 6 กลีบ รูปสามเหลี่ยม ยาว 3–4 มม. มีหรือไม่มีติ่งระหว่างกลีบ ดอกสีชมพูหรือม่วง สีขาวซีดในดอกแก่ มี 6 กลีบ รูปขอบขนาน ยาว 0.8–1.5 ซม. ก้านกลีบยาว 2–3 มม. เกสรเพศผู้วงนอก 6–7 อัน รังไข่มีขนสั้นนุ่มหนาแน่น ผลรูปรี ยาว 1.2–1.8 ซม. มีขนประปราย หนาแน่นช่วงปลายผล

พบที่พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และคาบสมุทรมลายู ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และชายป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 850 เมตร นิยมปลูกเป็นไม้ประดับตามสวนสาธารณะ และสองข้างถนน

ชื่อสามัญ  Thai crape myrtle

ชื่ออื่น   กระแบก (ภาคใต้); ตราแบกปรี้ (เขมร); ตะแบกไข่ (ราชบุรี, ตราด); ตะแบกนา (ภาคกลาง); บางอตะมะกอ, บางอยามู (มาเลย์); เปื๋อยด้อง, เปื๋อยนา, เปื๋อยหางค่าง (ภาคเหนือ)

ตะแบกนา: ดอกสีชมพูหรือม่วง สีขาวซีดในดอกแก่ หลอดกลีบเลี้ยง มี 10–12 สัน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

ตะแบกหนู
วันที่ 31 กรกฎาคม 2560

Lagerstroemia subangulata (Craib) Furtado & Montien

Lythraceae

ดูที่ สมอร่อง



เอกสารอ้างอิง

de Wilde, W.J.J.O., B.E.E. Duyfjes and P. Phonsena. (2014). Lythraceae. In Flora of Thailand Vol. 11(4): 553–580.

Furtado, C.X. (1969). A revision of Lagerstroemia L. (Lythraceae). Gardens’ Bulletin Singapore 24: 185–335.

Qin, H., S.A. Graham and M.G. Gilbert. (2007). Lythraceae (Lagerstroemia). In Flora of China Vol. 13: 277–281.