สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ตะเคียนแก้ว

ตะเคียนแก้ว
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Hopea sangal Korth.

Dipterocarpaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 40 ม. โคนต้นมีพูพอน มีขนสั้นนุ่มตามกิ่งอ่อน หูใบ ช่อดอก และกลีบเลี้ยง หูใบรูปใบหอก ใบรูปรีหรือรูปไข่ ยาว 4–11 ซม. ปลายแหลมยาว โคนเบี้ยว แผ่นใบด้านล่างมักมีนวล เส้นแขนงใบแบบขนนก เส้นใบย่อยกึ่งขั้นบันได มักมี ตุ่มใบเป็นขนช่วงโคนใบ ก้านใบยาว 0.5–1 ซม. ช่อดอกยาว 2–5 ซม. กลีบเลี้ยงรูปไข่กว้าง ยาว 1–1.5 มม. ดอกสีครีม กลีบรูปขอบขนาน ยาว 2.5–3.5 มม. เกสรเพศผู้ 10 อัน รยางค์ยาวเท่า ๆ อับเรณู รังไข่และฐานก้านเกสรเพศเมียรูปไข่ ปลายตัด ยาวประมาณ 1.2 มม. ก้านเกสรเพศเมียเป็นแท่งสั้น ๆ กลีบเลี้ยงขยายเป็นปีกสีเหลืองอมเขียว ปีกยาว ยาว 4–7 ซม. ปีกสั้นยาวประมาณ 7 มม. ผลรูปไข่กว้าง เส้นผ่านศูนย์กลาง 4–6 มม. เกลี้ยง (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ ตะเคียนทอง, สกุล)

พบที่คาบสมุทรมลายู บอร์เนียว สุมาตรา และชวา ในไทยพบทางภาคใต้ตั้งแต่สุราษฎร์ธานีลงไป ขึ้นตามป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 600 เมตร

ชื่ออื่น   ตะเคียนแก้ว (สงขลา); ตะเคียนขน (สุราฎร์ธานี); ตะเคียนเขา (ยะลา); ตะเคียนทราย (พังงา); ตะเคียนไพร, ตะเคียนสามพอน (สุราฎร์ธานี); ตะเคียนหมี (สุราฎร์ธานี, ยะลา); หลันตัน (ยะลา)

ตะเคียนแก้ว: เส้นแขนงใบย่อยกึ่งขั้นบันได กลีบเลี้ยงขยายเป็นปีกสีเหลืองอมเขียว (ภาพ: มานพ ผู้พัฒน์)



เอกสารอ้างอิง

Ashton, P.S. (1982). Dipterocarpaceae. In Flora Malesiana Vol. 9: 420.

Pooma, R. and M. Newman. (2001). Checklist of Dipterocarpaceae in Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 29: 150.