สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ตะเคียนเฒ่า

ตะเคียนเฒ่า
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Fagraea racemosa Jack ex Wall.

Gentianaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 10 ม. หูใบเชื่อมติดกันเป็นปลอกรอบกิ่ง ยาว 1–2 มม. ใบรูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกกลับ ยาว 11–25 ซม. ก้านใบยาว 0.8–2.5 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามปลายกิ่ง ยาวได้ถึง 16 ซม. ก้านช่อหนา ยาว 2–8.8 ซม. ดอกรูปกรวย เรียงแน่น ก้านดอกหนา ยาว 2–5 มม. กลีบเลี้ยงรูประฆัง ยาว 5–7 มม. ปลายแยกเป็น 5 แฉก ยาว 3–5 มม. ขยายในผล ดอกหนา สีขาวครีมถึงส้มอ่อน หลอดกลีบดอกยาว 1.5–2 ซม. กลีบกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5–1 ซม. เกสรเพศผู้ติดเหนือกึ่งกลางหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูยาว 1.4–1.8 ซม. อับเรณูรูปขอบขนาน ยาว 3–4 มม. รังไข่และก้านเกสรเพศเมียยาว 2–3.2 ซม. ยอดเกสรรูปโล่ จัก 2 พู ไม่ชัดเจน ผลเส้นผ่านศูนย์กลาง 1–1.8 ซม. เมล็ดยาวประมาณ 1.5 มม. (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ กันเกรา, สกุล)

พบที่พม่า ลาว กัมพูชา ภูมิภาคมาเลเซีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นริมลำธารในป่าดิบชื้น ความสูงระดับต่ำ ๆ หรือในป่าพรุ เปลือกและดอกใช้แก้พิษงู น้ำคั้นจากใบแก้ไข้ ปวดข้อ โรคบวมน้ำ

ชื่อสามัญ  False coffee tree

ชื่ออื่น   ตะเคียนเฒ่า (ตราด); ทุ่มบก (นครศรีธรรมราช); ปูเละ (มาเลย์-นราธิวาส); พวาน้ำ (ชุมพร, ปัตตานี); หว้าน้ำ (ภาคใต้)

ตะเคียนเฒ่า: ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามปลายกิ่ง ดอกรูปกรวย เรียงแน่น กลีบหนา ยอดเกสรรูปโล่ (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

ตะเคียนเฒ่า
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Triadica cochinchinensis Lour.

Euphorbiaceae

ดูที่ ตาตุ่มตรี



เอกสารอ้างอิง

Griffin, O. and J. Parnell. (1997). Loganiaceae. In Flora of Thailand Vol. 6(3): 199–201.