Index to botanical names
ตะเคียนหนู
Combretaceae
ไม้ต้นหรือไม้พุ่ม ใบเรียงตรงข้ามหรือเกือบตรงข้าม ช่อดอกออกเป็นกระจุกแน่น ทรงกลม ออกตามซอกใบ กลีบเลี้ยงรูปถ้วย ส่วนมากเป็นสันหรือมีปีก ปลายแยกเป็น 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้ 10 อัน เรียง 2 วง วงในติดตรงข้ามกลีบเลี้ยง วงนอกติดบนกลีบเลี้ยง รังไข่ใต้วงกลีบ มี 1 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 2 เม็ด ผลกลุ่ม ผลย่อยแห้ง มีสันหรือเป็นปีก ปลายมีกลีบเลี้ยงติดทน คล้ายเป็นจะงอยสกุล Anogeissus เดิมอยู่ภายใต้สกุล Conocarpus sect. Anogeissus DC. มีประมาณ 10 ชนิด พบในแอฟริกา และเอเชียเขตร้อน ในไทยมี 2 ชนิด อีกชนิดคือ ตะเคียนน้ำ A. rivularis (Gagnep.) O.Lecompte ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “ano” ตั้งขึ้น และ “geisson” กระเบื้อง ตามลักษณะยอดผลที่มีสันคล้ายกระเบื้อง
ไม้ต้น สูงได้ถึง 20 ม. มีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่นตามกิ่งอ่อน ใบอ่อน ก้านดอก และผล ใบรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 3.5–8 ซม. แผ่นใบด้านล่างมีขนยาว เส้นแขนงใบข้างละ 5–7 เส้น ก้านใบยาว 2–6 มม. ช่อดอกเส้นผ่านศูนย์กลาง 1–1.7 ซม. ก้านช่อยาว 0.6–2 ซม. ใบประดับมี 1–2 คู่ รูปใบหอกหรือรูปแถบ ยาว 3–5 มม. ก้านดอกยาว 4–6 มม. ใบประดับย่อยรูปรีหรือรูปไข่ ยาว 1–2 มม. หลอดกลีบยาวประมาณ 1 มม. โคนมีขน ปลายแยกเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยมตื้น ๆ ก้านชูอับเรณูยาว 3–4 มม. รังไข่มีขน ก้านเกสรเพศเมียยาวเท่า ๆ เกสรเพศผู้ ผลย่อยกว้าง 4–7 มม. ยาว 4 มม. กลีบเลี้ยงยาวประมาณ 6 มม. รวมจะงอยพบที่อินเดีย พม่า จีนตอนใต้ และภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้ง มักขึ้นบนเขาหินปูน ความสูงถึงประมาณ 750 เมตร ส่วนต่าง ๆ มีสรรพคุณต้านอนุมูลอิสระ และเชื้อแบคทีเรีย
ชื่ออื่น ขี้หมากเปียก, ตะเคียนหนู (นครราชสีมา); เบน (พิจิตร, ประจวบคีรีขันธ์); เปอเยอ, สะเร้า, ส่าเราะ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่); หมากเปียก (นครราชสีมา); เหว, เหียว (ภาคเหนือ); แหว (ภาคใต้); เอ็นมอญ (เลย); เอ็นลื่น (นครศรีธรรมราช)
ตะเคียนหนู: ช่อดอกทรงกลม ออกตามซอกใบ ก้านดอกมีขนหนาแน่น เกสรเพศผู้ 10 อัน เรียง 2 วง (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)
Dipterocarpaceae
Chen, J. and N.J. Turland. (2007). Combretaceae. In Flora of China Vol. 13: 314.
Scott, A.J. (1979). A revision of Anogeissus (Combretaceae). Kew Bulletin 33: 555–566.