สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ตะเคียนราก

ตะเคียนราก
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Hopea pierrei Hance

Dipterocarpaceae

ไม้ต้น สูง 10–20 ม. โคนต้นมักมีพูพอนหรือรากค้ำยัน เปลือกมักแตกเป็นสะเก็ดตามยาว กิ่งอ่อนมีขนสั้น ใบรูปไข่หรือรูปรี ยาว 4–8 ซม. ปลายยาวคล้ายหาง ยาว 0.7–1 ซม. เส้นแขนงใบแบบเส้นใบแซม มี 12–15 เส้นในแต่ละข้าง มักมีเส้นใบย่อย 1–2 เส้นแซม ส่วนมากมีต่อมใบเป็นกระจุกขนช่วงโคน เส้นกลางใบด้านบนเป็นร่อง ก้านใบยาว 0.5–1 ซม. ช่อดอกยาว 1–2.5 ซม. กลีบเลี้ยงรูปไข่กว้าง ดอกสีครีม กลีบรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ยาว 2 มม. มีขนสั้นด้านนอก ขอบกลีบเป็นชายครุย เกสรเพศผู้ 15 อัน รังไข่และฐานก้านเกสรเพศเมียรูปนาฬิกาทราย ยาว 3 มม. เกลี้ยง กลีบเลี้ยงขยายเป็นปีก ในผลอ่อนสีน้ำตาลแดง ปีกยาว ยาว 2.5–3 ซม. ปีกสั้น ยาว 3–4 มม. ผลรูปไข่ ยาว 6 มม. เกลี้ยง (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ ตะเคียนทอง, สกุล)

พบในภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ในไทยพบที่ตราด หนองคาย และภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 700 เมตร

ชื่ออื่น   แคนฮากหย่อง (บึงกาฬ); เคียน (ตราด); ตะเคียนแดง (ภาคตะวันออกเฉียงใต้); ตะเคียนทราย, ตะเคียนราก (ตราด)

ตะเคียนราก: โคนต้นมีพูพอน เปลือกแตกเป็นสะเก็ดตามยาว เส้นแขนงใบแบบเส้นใบแซม กลีบเลี้ยงขยายเป็นปีก ผลอ่อนปีกมีสีน้ำตาลแดง (ภาพ: มานพ ผู้พัฒน์)



เอกสารอ้างอิง

Ashton, P.S. (1982). Dipterocarpaceae. In Flora Malesiana Vol. 9: 405.

Pooma, R. and M. Newman. (2001). Checklist of Dipterocarpaceae in Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 29: 149.

Smitinand, T., J.E. Vidal and P.H. Hô. (1990). Dipterocarpaceae. Flore du Cambodge, du Laos et du Vietnam. 25: 76–77.