ไม้พุ่มหรือไม้ต้นทนน้ำท่วม สูงได้ถึง 15 ม. มีขนสั้นนุ่มตามกิ่งอ่อน ก้านใบ ใบประดับ ก้านดอก และหลอดกลีบเลี้ยงด้านนอก ใบเรียงตรงข้ามหรือเกือบตรงข้าม รูปรี กว้าง 0.7–1.5 ซม. ยาว 1.5–4 ซม. ปลายแหลมเป็นติ่งสั้น ๆ ใบอ่อนมีขนคล้ายไหม ใบแก่มีขนด้านล่างกระจาย เส้นแขนงใบส่วนมากมีข้างละ 3–5 เส้น ก้านใบยาว 2–4 มม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. ก้านช่อยาว 0.7–1.2 ซม. มีขนยาวสีน้ำตาลแดง ใบประดับ 3–4 คู่ รูปใบหอก ยาว 1–2 มม. ร่วงเร็ว ดอกจำนวนมาก ก้านดอกยาว 3–4 มม. หลอดกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 1 มม. เป็นสันนูน ปลายแยกเป็น 5 แฉกตื้น ๆ ติดทน ไม่มีกลีบดอก รังไข่เกลี้ยง ผลเป็นกระจุกแน่นรูปโคน ผลย่อยรูปรี ยาว 3–3.5 มม. มี 4 สัน แห้งไม่แตก ปลายเป็นจะงอย ยาวประมาณ 2 มม. (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ ตะเคียนหนู, สกุล)
พบที่ลาว ในไทยส่วนมากพบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ขึ้นกระจายหนาแน่นในแม่น้ำโขงที่เป็นเกาะในหน้าแล้ง และยังพบในที่ลุ่มน้ำท่วมถึงทางภาคเหนือที่สุโขทัย และพิจิตร ซึ่งเรียกว่า คร่อเทียน หรือ ขล้อเทียน
|