สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ตะเคียนทอง

ตะเคียนทอง  สกุล
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Hopea Roxb.

Dipterocarpaceae

ไม้ต้น มักมีพูพอนหรือรากค้ำยัน เปลือกเรียบหรือแตกเป็นแผ่น สีน้ำตาลดำ ชันใสหรือขุ่น หูใบขนาดเล็ก ร่วงเร็ว ใบเรียงเวียน เส้นแขนงใบแบบขนนกหรือเส้นใบแซม เส้นแขนงใบย่อยส่วนมากแบบขั้นบันได มักมีตุ่มใบ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ดอกเรียงสลับด้านเดียว ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยง 5 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม กลีบคู่นอกยาวกว่าสามกลีบในเล็กน้อย ดอกสีขาว ครีมอมเหลือง หรือแดง มี 5 กลีบ ร่วงติดกัน บิดเวียน เกสรเพศผู้ 10–15 อัน เรียง 1–2 วง อับเรณูมี 4 ช่อง รูปกลม ๆ คู่ในมักสั้นกว่าคู่นอก ก้านชูอับเรณูสั้น แกนอับเรณูมีรยางค์ยาว ก้านชูอับเรณูแผ่กว้างช่วงโคน ส่วนมากฐานเกสรเพศเมียไม่ชัดเจน ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มหรือจัก 3 พู ไม่ชัดเจน ผลแบบเปลือกแข็งเมล็ดเดียว โคนกลีบเลี้ยงหนา กลีบเลี้ยงขยายเป็นปีกยาว 2 ปีก รูปใบพาย ปีกสั้น 3 ปีก รูปรีถึงรูปใบหอก หรือไม่ขยายเป็นปีกทั้ง 5 กลีบ ปลายผลมีติ่งแหลม

สกุล Hopea อยู่ภายใต้เผ่า Shoreae ที่โคนกลีบเลี้ยงในผลเรียงซ้อนเหลื่อม แยกเป็น sect. Dryobalanoides เส้นแขนงใบแบบกึ่งหรือเส้นใบแซม ฐานก้านเกสรเพศเมียไม่คอดเว้า และ sect. Hopea เส้นแขนงใบแบบขนนก เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได ฐานก้านเกสรเพศเมียคอดเว้าหรือไม่คอด มีประมาณ 100 ชนิด พบที่อินเดีย ศรีลังกา พม่า จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ในไทยมีประมาณ 20 ชนิด ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมัน David Heinrich Hoppe (1760–1846)


ตะเคียนทอง
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Hopea odorata Roxb.

Dipterocarpaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 40 ม. มีขนสั้นนุ่มตามกิ่งอ่อน หูใบ ช่อดอก และกลีบเลี้ยง ใบรูปขอบขนานหรือรูปใบหอกแกมรูปไข่กลับ หรือโค้งเล็กน้อย ยาว 5–14 ซม. โคนเบี้ยว เส้นแขนงใบข้างละ 8–12 เส้น มักมีตุ่มใบเป็นรู เกลี้ยง ก้านใบยาว 1–1.5 ซม. ช่อดอกยาว 3–10 ซม. ช่อย่อยมี 4–10 ดอก กลีบเลี้ยงรูปไข่ ยาว 1–3 มม. ดอกสีครีมอมเหลือง กลีบรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 2–3 มม. ขอบเป็นชายครุย เกสรเพศผู้ 15 อัน รยางค์ยาวเท่า ๆ อับเรณู รังไข่และฐานก้านเกสรเพศเมียรูปไข่ ยาวประมาณ 2 มม. ก้านเกสรเพศเมียสั้น กลีบเลี้ยงขยายเป็นปีก มีขนสั้นนุ่มประปราย ปีกยาว ยาว 3–6 ซม. ปีกสั้นยาว 5–7 มม. ผลรูปไข่กว้าง เส้นผ่านศูนย์กลาง 6–8 มม. มีขุยเกล็ด

พบที่อินเดีย บังกลาเทศ พม่า อินโดจีน และคาบสมุทรมลายู ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น หรือริมลำธารในป่าเบญจพรรณ ความสูงถึงประมาณ 900 เมตร เนื้อไม้มีสีเข้มเมื่อโดนอากาศ นิยมใช้ขุดเรือ เปลือกเคี้ยวแก้ปวดฟัน

ชื่อสามัญ  Ironwood

ชื่ออื่น   กะกี้, โกกี้ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่); แคน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); จะเคียน (ภาคเหนือ); จืองา (มาเลย์-นราธิวาส); จูเค้, โซเก (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี); ตะเคียน, ตะเคียนทอง, ตะเคียนใหญ่ (ภาคกลาง); ไพร (ละว้า-เชียงใหม่)

ตะเคียนทอง: ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ดอกเรียงสลับด้านเดียว กลีบดอกบิดเวียน กลีบเลี้ยงขยายเป็นปีกยาว 2 ปีก ปีกสั้น 3 ปีก (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Ashton, P.S. (1982). Dipterocarpaceae. In Flora Malesiana Vol. 9: 391–436.

Pooma, R. and M. Newman. (2001). Checklist of Dipterocarpaceae in Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 29: 140–152.

Smitinand, T., J.E. Vidal and P.H. Hô. (1990). Dipterocarpaceae. Flore du Cambodge, du Laos et du Vietnam. 25: 62–84.