สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ตะเคียนชันตาแมว

ตะเคียนชันตาแมว
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Neobalanocarpus heimii (King) P.S.Ashton

Dipterocarpaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 40 ม. โคนมีพูพอน เปลือกแตกตามยาวล่อนเป็นสะเก็ด เปลือกในสีเหลืองแกมเขียว ชันสีขาวใส หูใบรูปแถบยาวประมาณ 1 ซม. ใบเรียงเวียน รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 6–15 ซม. ปลายแหลมยาว โคนเบี้ยว เส้นแขนงใบเรียงจรดขอบใบ เส้นแขนงใบย่อยแบบขั้นบันได ก้านใบยาว 0.5–1 ซม. ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ยาว 6–8 ซม. แต่ละช่อแขนงมี 5–7 ดอก ตาดอกกลม มีขนหนาแน่น เกือบไร้ก้าน กลีบเลี้ยง 5 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม รูปไข่กว้าง ยาวประมาณ 2.5 มม. ดอกสีครีมอมเหลือง มี 5 กลีบ รูปขอบขนาน ยาว 5–6 มม. ด้านนอกมีขนหนาแน่น เกสรเพศผู้ 15 อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 2 มม. โคนแผ่กว้าง อับเรณูมี 4 พู แกนอับเรณูปลายเป็นติ่งแหลม รังไข่เกลี้ยง เรียวเป็นฐานก้านเกสรเพศเมีย ยาว 2–3 มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม ผลแบบเปลือกแข็งเมล็ดเดียว รูปขอบขนาน โค้งเล็กน้อย ยาว 4–5 ซม. ปลายมีติ่งแหลม แตกเป็น 3 ซีก กลีบเลี้ยงรูปไข่สั้นกว่าผล โคนหนา ยาวประมาณ 1.5 ซม. ก้านผลยาว 1–5 มม.

พบที่คาบสมุทรมลายู ในไทยพบที่สุราษฎร์ธานี ตรัง สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส ขึ้นตามที่ลาดชันในป่าดิบชื้น ความสูง 300–500 เมตร เนื้อไม้มีความแข็งและคงทนมากที่สุดในมาเลเซีย

สกุล Neobalanocarpus P. S. Ashton อยู่ภายใต้เผ่า Shoreae ที่โคนกลีบเลี้ยงในผลเรียงซ้อนเหลื่อม มีชนิดเดียว ชื่อสกุลหมายถึงสกุลใหม่ที่แยกมาจากสกุล Balanocarpus ซึ่งหลายชนิดถูกยุบรวมกับสกุล Hopea

ชื่อพ้อง  Balanocarpus heimii King

ชื่อสามัญ  Chengal

ชื่ออื่น   จีงามาส, จีรามัส, จืองา (มาเลย์-นราธิวาส); ตะเคียนชัน, ตะเคียนชันตาแมว (ภาคใต้); ตะเคียนทราย (ตรัง)

ตะเคียนชันตาแมว: เปลือกแตกตามยาวล่อนเป็นสะเก็ด ดอกสีครีมอมเหลือง ผลรูปขอบขนาน โค้งเล็กน้อย ปลายมีติ่งแหลม กลีบเลี้ยงสั้นกว่าผล โคนหนา (ภาพ: มานพ ผู้พัฒน์)



เอกสารอ้างอิง

Ashton, P.S. (1982). Dipterocarpaceae. In Flora Malesiana Vol. 9: 388–389.

Pooma, R. and M. Newman. (2001). Checklist of Dipterocarpaceae in Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 29: 152.