สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ตะเกราน้ำ

ตะเกราน้ำ
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Eriobotrya bengalensis (Roxb.) Hook.f.

Rosaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 10 ม. มีขนสั้นนุ่มตามช่อดอก ใบประดับ ฐานดอก กลีบเลี้ยงและโคนกลีบดอกด้านนอก ใบเรียงเวียน รูปรีถึงรูปใบหอก ยาว 7–20 ซม. ขอบจักฟันเลื่อย เรียบช่วงโคนใบ เส้นแขนงใบเรียงจรดขอบใบ ก้านใบยาว 2–4 ซม. ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ยาว 8–12 ซม. ก้านช่อสั้น ใบประดับรูปใบหอก ก้านดอกยาว 3–5 มม. ฐานดอกยาว 2–3 มม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่ ยาวประมาณ 1 มม. ติดทน ดอกสีขาว มี 5 กลีบ รูปไข่กลับกว้างเกือบกลม ยาว 4–5 มม. เกสรเพศผู้ 20 อัน มี 2–5 คาร์เพล เชื่อมติดกัน อยู่กึ่งใต้วงกลีบ ก้านเกสรเพศเมีย 2–3 อัน เชื่อมติดกันที่โคน มีขนสั้นนุ่ม ฐานดอกขยายเป็นผล (pome) รูปไข่ ยาว 1–1.5 ซม. มี 1–2 เมล็ด

พบที่ปากีสถาน อินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู สุมาตรา และบอร์เนียว ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น และป่าดิบเขา ความสูงถึงประมาณ 1500 เมตร

สกุล Eriobotrya Lindl. มีประมาณ 30 ชนิด ในไทยมี 1–2 ชนิด ซึ่ง E. stipularis Craib ถูกระบุว่าอาจเป็นเพียงลักษณะ form ของตะเกราน้ำ และมีที่นำเข้ามาปลูกเป็นไม้ผล 1 ชนิด คือ E. japonica (Thunb.) Lindl. หรือ loquat ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “erion” ขนคล้ายขนแกะ และ “botrys” เป็นกระจุก ตามลักษณะช่อดอก

ชื่อพ้อง  Mespilus bengalensis Roxb.

ชื่ออื่น   จำปีดง (เชียงใหม่); เซงเคง (กะเหรี่ยง-ภาคตะวันตกเฉียงใต้); ตะเกราน้ำ (จันทบุรี); ปะองเทศ (ภาคตะวันตกเฉียงใต้); เมียด (เลย); สีเสียดน้ำ (บุรีรัมย์)

ตะเกราน้ำ: ใบเรียงเวียน ขอบจักฟันเลื่อย ช่อผลออกที่ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงติดทน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Vidal, J.E. (1970). Rosaceae. In Flora of Thailand Vol. 2(1): 42–44.