Index to botanical names
ตะลุมพุก
Rubiaceae
ไม้พุ่มหรือไม้ต้น ผลัดใบ สูงได้ถึง 10 ม. กิ่งเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ปลายกิ่งเป็นกระจุกมีหนาม 2–4 อัน หนามยาว 0.5–1.5 ซม. หูใบร่วมรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก ใบเรียงตรงข้ามเป็นกระจุกสั้น ๆ ส่วนมากรูปไข่กลับ ยาว 3–22 ซม. โคนเรียวสอบจรดก้านใบ ก้านใบยาวได้ถึง 2 ซม. ช่อดอกตามซอกใบ ลดรูปมีดอกเดียว ดอกสมบูรณ์เพศหรือดอกเพศเมียขนาดใหญ่ เกือบไร้ก้าน ดอกเพศผู้ขนาดเล็ก ก้านยาวได้ถึง 2 ซม. ดอกสีขาวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ดอกบานเส้นผ่านศูนย์กลาง 3–5 ซม. กลีบเลี้ยงเป็นหลอดสั้น ปลายแยก 5–8 แฉก กลม ๆ ขนาดเล็ก ติดทน ดอกบิดเวียนรูปวงล้อ หลอดกลีบดอกสั้นมาก ปากหลอดเกลี้ยงหรือมีขนหนาแน่น มี 5–8 กลีบ เกสรเพศผู้ติดที่ปากหลอดกลีบระหว่างกลีบดอก อับเรณูไร้ก้านกางออก ยาว 0.8–1 ซม. รังไข่ใต้วงกลีบ ก้านเกสรเพศเมียสั้น หนา ยอดเกสรเพศเมียรูปกระบอง แยก 2 แฉก ยาว 0.8 –1 ซม. ผลรูปไข่หรือรูปไข่กลับ ยาว 5–9 ซม. ผนังผลหนา เนื้อนุ่ม เมล็ดจำนวนมาก ผลของดอกเล็กมีขนาดประมาณกึ่งหนึ่ง เมล็ดมักฝ่อ พบที่อินเดีย ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ กระจายห่าง ๆ ในป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ความสูง 100–500 เมตร ในอินเดียผลอ่อนต้มหรือเผากินเป็นผัก น้ำคั้นจากใบแก้หลอดลมอักเสบ ผลสุกแก้บิด เปลือกและผลดิบใช้เบื่อปลาสกุล Tamilnadia Tirveng. & Sastre มีเพียงชนิดเดียว ชื่อสกุลตั้งตามชื่อรัฐ Tamil Nadu ในอินเดีย
ชื่อพ้อง Gardenia uliginosa Retz., Randia uliginosa (Retz.) Poir.
ชื่อสามัญ Divine jasmine
ชื่ออื่น กระลำพุก, ตะลุมพุก (ภาคกลาง, ภาคตะวันตกเฉียงใต้); มอกน้ำข้าว, มะข้าว (ภาคเหนือ); มะคัง (อุตรดิตถ์); มะคังขาว (ภาคกลาง, ภาคตะวันตกเฉียงใต้); ลุบปุ๊ก (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); ลุมพุก (ลพบุรี)
ตะลุมพุก: ใบเรียงตรงข้ามเป็นกระจุกสั้น ๆ ช่อดอกลดรูปมีดอกเดียว ดอกขนาดเล็กมีก้าน ดอกขนาดใหญ่เกือบไร้ก้าน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา, สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)
Brandis, D. 2nd reprint. (1978). Indian Tree. Bishen Singh Mahendra Pal Singh, Dehra Dun.
Puff, C., K. Chayamarit and V. Chamchumroon. (2005). Rubiaceae of Thailand. Forest Herbarium. Bangkok.