สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ตะคร้ำ

ตะคร้ำ  สกุล
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Garuga Roxb.

Burseraceae

ไม้ต้น มีชันใส ส่วนมากมีหูใบและหูใบย่อย ใบประกอบ เรียงเวียน ใบย่อยเรียงตรงข้าม ใบย่อยคู่ล่างมักลดรูป ขอบใบจักฟันเลื่อยหรือจักมน เส้นแขนงใบเรียงจรดกัน ก้านใบย่อยสั้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งเป็นกระจุก ออกก่อนหรือพร้อมผลิใบใหม่ ใบประดับขนาดเล็ก ร่วงเร็ว ดอกสมบูรณ์เพศ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกจำนวนอย่างละ 5 กลีบ ดอกสีเหลืองครีม เกสรเพศผู้ 10 อัน ติดบนจานฐานดอกที่จักเป็นพู 10 พู รังไข่มีก้านสั้น เกสรเพศเมียรูปทรงกระบอก ยอดเกสรเพศเมียจัก 5 พู ผลผนังชั้นในแข็ง มี 1–5 ไพรีน ไพรีนมีเมล็ดเดียว

สกุล Garuga มีประมาณ 90 ชนิด ในไทยมีประมาณ 3 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษาพื้นเมืองเตลูกูในอินเดีย “garugu” ที่ใช้เรียกตะคร้ำ


ตะคร้ำ
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Garuga pinnata Roxb.

Burseraceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 30 ม. มีขนสั้นนุ่มตามหูใบด้านนอก แกนใบประกอบ ใบประดับ ช่อดอก ก้านดอก กลีบเลี้ยง และกลีบดอก หูใบรูปใบหอกยาว 0.5–1 ซม. บางครั้งมีหูใบย่อย รูปรี ยาว 2–5 ซม. ใบย่อยมี 5–10 คู่ ก้านใบประกอบยาวได้ถึง 10 ซม. ใบย่อยรูปรีถึงรูปใบหอก เบี้ยว ยาว 5–13 ซม. ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงออกเป็นกระจุก 3–10 ช่อ ยาวได้ถึง 20 ซม. ก้านดอกยาว 1–3 มม. ดอกยาว 0.7–1 ซม. กลีบเลี้ยงรูปไข่ ยาวประมาณ 3 มม. กลีบดอกรูปใบหอกกลับ ยาว 5–5.5 มม. โคนก้านชูอับเรณูยาว ยาว 2–4 มม. อันตรงข้ามกลีบเลี้ยงยาวกว่าอันตรงข้ามกลีบดอก โคนมีขนยาว รังไข่มีขน ก้านเกสรเพศเมียยาว 3–5 มม. มีขนยาว ผลเบี้ยว เส้นผ่านศูนย์กลาง 1–2 ซม. มี 1–5 ไพรีน

พบที่อินเดีย เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ พม่า และภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบกระจายหนาแน่นแทบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ความสูงถึงประมาณ 1500 เมตร เปลือกมีสรรพคุณลดน้ำตาลในเลือด ผลใช้เบื่อปลา

ชื่ออื่น   กะตีบ, แขกเต้า, ค้ำ (ภาคเหนือ); ตะคร้ำ (ภาคเหนือ, ภาคกลาง); ปีชะออง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี); มะกอกกาน (ภาคกลาง); หวีด (ภาคเหนือ); อ้อยน้ำ (จันทบุรี)

ตะคร้ำ: ใบประกอบ เรียงเวียน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งเป็นกระจุก (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ, ราชันย์ ภู่มา)

ตะคร้ำ
วันที่ 1 กรกฎาคม 2559

Lannea coromandelica (Houtt.) Merr.

Anacardiaceae

ดูที่ กุ๊ก

ตะคร้ำหิน
วันที่ 31 ตุลาคม 2559 แก้ไขข้อมูล 27 เมษายน 2563

Garuga floribunda Decne.

Burseraceae

ไม้ต้น ส่วนมากสูงไม่เกิน 10 ม. มีขนสั้นนุ่มตามช่อดอก กลีบเลี้ยง และกลีบดอก หูใบรูปใบหอก ยาว 2–3 มม. ร่วงเร็ว ก้านใบประกอบยาวได้ถึง 6 ซม. มีใบย่อย 5–8 คู่ รูปรีหรือรูปขอบขนาน เบี้ยวเล็กน้อย ยาว 2–9 ซม. ช่อดอกยาว 3–20 ซม. ก้านดอกยาว 1–3 มม. ดอกยาว 4–6 มม. กลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก กลีบดอกรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 3 มม. ก้านชูอับเรณูเกลี้ยงหรือมีขนยาว อันตรงข้ามกลีบดอกยาว 1.5–2 มม. อันตรงข้ามกลีบเลี้ยงยาวกว่าเล็กน้อย รังไข่มีขน ก้านเกสรเพศเมียยาว 1.5–2 มม. มีขนยาว ผลรูปกลม เบี้ยว เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5 ซม. เกสรเพศเมียติดทน มักติดเบี้ยวด้านข้าง ส่วนมากมี 1–2 ไพรีน

พบที่ชวา บอร์เนียวตอนเหนือ ติมอร์ ซีลีเบซ หมู่เกาะซุนดา โมลุกกะ ฟิลิปปินส์ นิวกินี แปซิฟิก และทางตอนบนของออสเตรเลีย ในไทยพบทางภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคใต้ ขึ้นตามเขาหินปูน ความสูงถึงประมาณ 300 เมตร ส่วน var. glablei ช่อดอกยาว พบอินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ ภูฏาน ยูนนาน และไห่หนาน ในไทยพบทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่อุทัยธานี

ชื่อพ้อง  Garuga floribunda var. floribunda

ตะคร้ำหิน: ช่อดอกออกตามปลายกิ่งเป็นกระจุก ผลขนาดเล็ก เบี้ยว เกสรเพศเมียติดทน มักติดเบี้ยวด้านข้าง (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ, นัยนา เทศนา)



เอกสารอ้างอิง

Leenhouts, P.W. (1956). Burseraceae. In Flora Malesiana Vol. 5: 215–218.

Peng, H. and M. Thulin. (2008). Burseraceae (Garuga). In Flora of China Vol. 11: 107–108.

Pooma, R. (1999). A preliminary account of Burseraceae in Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 27: 57–58.