สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ตะขบป่า

ตะขบป่า
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Flacourtia indica (Burm.f.) Merr.

Salicaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 20 ม. แยกเพศต่างต้น ลำต้นมีหนามหรือไม่มี มีขนสั้นนุ่มตามกิ่ง ช่อดอก ก้านดอก กลีบเลี้ยงด้านใน หูใบขนาดเล็ก ร่วงเร็ว ใบเรียงเวียน รูปรีหรือรูปไข่ ยาว 4–12 ซม. แผ่นใบมักมีขนตามเส้นแขนงใบด้านล่าง ขอบจักฟันเลื่อย ปลายจักมีต่อม ก้านใบยาว 0.3–1 ซม. ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ยาว 1–2 ซม. มีขนสั้นนุ่ม ใบประดับคล้ายใบ ก้านดอกยาว 3–8 มม. กลีบเลี้ยง 3–7 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม รูปไข่ ยาว 1.5–2 มม. ขอบมีขนครุย ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 3 มม. ไม่มีที่เป็นหมันในดอกเพศเมีย จานฐานดอกเป็นวงหรือจักตื้น ๆ รังไข่มี 5–7 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 2 เม็ด ไม่มีที่เป็นหมันในดอกเพศผู้ ก้านเกสรเพศเมีย 5–6 อัน แยกกันหรือเชื่อมติดกันที่โคน ยาว 2–2.5 มม. ติดทน ยอดเกสรคล้ายรูปเกือกม้า ผลผนังชั้นในแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.8–2.5 ซม. สุกสีแดง ส่วนมากมี 10–14 ไพรีน

พบที่แอฟริกา มาดากัสการ์ เอเชีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าผลัดใบและไม่ผลัดใบ ความสูงถึงประมาณ 1500 เมตร ปลูกเป็นไม้ผล

สกุล Flacourtia Comm. ex L’Hér. เคยอยู่ภายใต้วงศ์ Flacourtiaceae มีประมาณ 15 ชนิด พบในแอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยมี 4 ชนิด ตะขบควาย F. jangomas (Lour.) Raeusch. เป็นไม้ต่างถิ่น ไม่ทราบถิ่นกำเนิดที่แน่ชัด ตะขบไทย F. rukam Zoll. & Moritzi และตะขบ F. ramontchi L’Hér. ซึ่งทั้ง 4 ชนิด มีความแตกต่างกันน้อยมาก ชื่อสกุลตั้งตามนักสำรวจชาวฝรั่งเศส Étienne de Flacourt (1607–1660)

ชื่อพ้อง  Gmelina indica Burm.f.

ชื่อสามัญ  Governor’s plum, Indian plum

ชื่ออื่น   ตะขบป่า (ภาคกลาง); ตานเสี้ยน, มะเกว๋นนก, มะเกว๋นป่า (ภาคเหนือ); หมากเบน (หนองคาย)

ตะขบป่า: ใบรูปรีหรือรูปไข่ ขอบจัก ผลสุกสีแดง (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Harwood, B. and B. Webber. (2015). Achariaceae. In Flora of Thailand Vol. 13(1): 27–35.

Yang, Q. and S. Zmarzty. (2007). Flacourtiaceae. In Flora of China Vol. 13: 118–120.