สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ตองเต้า

ตองเต้า  สกุล
วันที่ 12 ตุลาคม 2559

Mallotus Lour.

Euphorbiaceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น พบน้อยที่เป็นไม้เถา แยกเพศต่างต้น หูใบรูปลิ่มแคบ ร่วงเร็ว ใบเรียงเวียนหรือเรียงตรงข้ามขนาดไม่เท่ากัน แผ่นใบด้านล่างมักมีเกล็ดต่อม และตุ่มใบ โคนใบส่วนมากมีต่อม 2 ต่อม ช่อดอกแบบช่อกระจะคล้ายช่อกระจุก บางครั้งแยกแขนง ดอกเพศผู้ออกเป็นกระจุก ดอกเพศเมียมี 1–2 ดอก กลีบเลี้ยงแยก 3–6 แฉก ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก เกสรเพศผู้มี 15 อัน ถึงจำนวนมาก แยกกัน อับเรณูมี 2 ช่อง แกนอับเรณูกว้าง ในดอกเพศผู้ไม่มีรังไข่ที่เป็นหมัน รังไข่ส่วนมากมี 3 ช่อง แต่ละช่องมีออวุลเม็ดเดียว ก้านเกสรเพศเมีย 3 อัน ยอดเกสรไม่แยกแขนง มีขนหรือปุ่มยาว ติดทน ผลแห้งแตก มักมีขนหนาม เมล็ดเรียบ บางครั้งมีเยื่อหุ้ม

สกุล Mallotus อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Acalyphoideae เผ่า Acalypheae มีประมาณ 150 ชนิด พบในแอฟริกา มาดากัสการ์ เอเชีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยมี 42 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “mallotos” ขนแบบขนแกะ ตามลักษณะผลที่มักมีขนแบบขนแกะ


ตองเต้า
วันที่ 12 ตุลาคม 2559

Macaranga denticulata (Blume) Müll.Arg.

Euphorbiaceae

ดูที่ ตองแตบ

ตองเต้า
วันที่ 12 ตุลาคม 2559

Mallotus barbatus Müll.Arg.

Euphorbiaceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง 10 ม. หูใบยาว 0.6–1 ซม. ใบรูปไข่ หรือจักเป็นพู ยาว 18–60 ซม. โคนแบบก้นปิด มีต่อมน้ำต้อยสีดำที่โคนประมาณ 4 ต่อม ขอบจักซี่ฟัน ก้านใบยาวได้ถึง 20 ซม. ช่อดอกเพศผู้ยาวได้ถึง 30 ซม. ดอกเพศผู้ออกเป็นกลุ่ม 3 ดอก ใบประดับรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 4 มม. ก้านดอกยาว 3.5–6.5 มม. กลีบเลี้ยงสีครีม ยาว 3.5–5 มม. ช่อดอกเพศเมียยาวได้ถึง 40 ซม. ห้อยลง ใบประดับยาวได้ถึง 1 ซม. ก้านดอกยาว 2–4 มม. ขยายในผล กลีบเลี้ยงสีเหลืองอมแดง ยาว 3.5–5 มม. ยอดเกสรเพศเมียยาว 4.5–6 มม. ผลกลม จัก 3 พู ตื้น ๆ เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.8–2 ซม. ขนหนามยาวประมาณ 5 มม. ผลมีขนรูปดาวหนาแน่น เมล็ดรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 5 มม.

พบที่อินเดีย พม่า จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู ในไทยพบทุกภาค เป็นไม้เบิกนำ ขึ้นตามชายป่า ความสูงถึงประมาณ 1000 เมตร ใบตำกับพริกไทยดำและขิงใช้พอกท้องแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ

ชื่อสามัญ  Siamese pom-pom tree

ชื่ออื่น   กระรอกขน (ชุมพร); กะลอขน, กะลอยายทาย (ภาคใต้); ขี้เท่า, ตองเต๊า, เต๊าขน (ภาคเหนือ); บาเละอางิง (มาเลย์-นราธิวาส); ปอเต๊า (ภาคเหนือ); ปอหุน (ประจวบคีรีขันธ์); สละป้าง, สละป้างใบใหญ่ (จันทบุรี); หญ้าขี้ทูด (สกลนคร); หูช้าง (เพชรบูรณ์)

ตองเต้า: โคนใบแบบก้นปิด ช่อดอกออกที่ปลายกิ่ง ดอกเพศผู้ออกเป็นกลุ่ม 3 ดอก ไม่มีกลีบดอก ช่อผลห้อยลง ผลมีขนหนาแน่น เกสรเพศเมียติดทน (ภาพ: สุคิด เรืองเรื่อ, สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)



เอกสารอ้างอิง

Qiu, H. and M.G. Gilbert. (2008). Euphorbiaceae (Mallotus). In Flora of China Vol. 11: 225, 229.

van Welzen, P.C., S.E.C. Sierra, J.W.F. Silk and S. Bollendroff. (2007). Euphorbiaceae (Mallotus). In Flora of Thailand Vol. 8(2): 384–437.