ไม้เถาเนื้อแข็ง แยกเพศต่างต้น เถามีตุ่มคล้ายหนามขนาดเล็กประปราย มีขนตามกิ่งอ่อน และแผ่นใบด้านล่าง ใบเรียงเวียนห่าง ๆ รูปไข่กว้าง หรือจัก 3 พู ยาว 10–20 ซม. ปลายแหลม โคนเว้าตื้น เส้นโคนใบข้างละ 1–3 เส้น ก้านใบยาว 3–7 ซม. ช่อดอกเพศผู้คล้ายช่อเชิงลดแยกแขนง ยาว 10–20 ซม. ออกตามซอกใบหรือลำต้น มีขนสั้นนุ่ม ช่อย่อยแบบช่อกระจุกแน่น มี 12–15 ดอก ใบประดับรูปเส้นด้าย ยาวได้ถึง 1 ซม. ติดทน ดอกขนาดเล็ก กลีบเลี้ยงมี 3–5 กลีบ กลีบดอก 3–4 กลีบ เกสรเพศผู้ส่วนมากมี 3–4 อัน เชื่อมติดกันสั้น ๆ รังไข่เป็นหมันมีขนยาว ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุกแน่น ก้านช่อหนา ออกตามซอกใบ 1–3 ช่อ ดอกคล้ายดอกเพศผู้ ก้านเกสรเพศเมียหนา ยอดเกสรจัก 2 พู ผลกลุ่ม ผลย่อยผนังชั้นในแข็ง เรียงหนาแน่นเป็นกระจุกกลม เส้นผ่านศูนย์กลางยาวได้ถึง 20 ซม. ผลย่อยรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ยาว 4.5–8 ซม. มีขนหนาแน่น ผนังชั้นในแข็ง มีรูพรุน
พบที่พม่า ภูมิภาคมาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ในไทยพบทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่ป่าละอู จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และภาคใต้ที่ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ขึ้นตามป่าดิบชื้นที่มีหินปูน ความสูงถึงประมาณ 450 เมตร
สกุล Phytocrene Wall. มี 11 ชนิด พบเฉพาะในเอเชีย โดยเฉพาะภูมิภาคมาเลเซีย ในไทยมี 3 ชนิด อีก 2 ชนิด พบเฉพาะทางภาคใต้ตอนล่าง ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “phyto” พืช และ “crene” น้ำพุ หมายถึงเถามีน้ำจำนวนมาก
|