ปาล์มแตกกอ ลำต้นสั้นอยู่ใต้ดิน แยกเพศต่างต้น ใบแบบขนนก เรียงเวียน มี 10–15 ใบ ก้านและกาบยาวได้ถึง 3 ม. มีหนามเป็นกระจุก 2–10 อัน หนาแน่น แกนกลางใบยาวได้ถึง 4.5 ม. ใบย่อยข้างละ 35–42 ใบ เรียงสลับระนาบเดียว รูปแถบ ยาว 0.8–1.25 ซม. ไร้ก้าน มีหนามกระจายตามเส้นใบ ใบปลายมักเชื่อมติดกัน ช่อดอกคล้ายช่อเชิงลด มีหลายช่อออกชิดกันที่ยอด โคนช่อมีใบลดรูป ใบประดับเรียงซ้อนกัน ใบประดับย่อยด้านล่างมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น ช่อดอกเพศผู้ยาวได้ถึง 1 ม. ช่อย่อยยาว 13–24 ซม. ดอกเพศผู้ออกเป็นกระจุกจากในหลุม กลีบเลี้ยงเป็นหลอด ปลายแยก 3 แฉก เกสรเพศผู้ 6 อัน ติดบนปากหลอดกลีบดอก ช่อดอกเพศเมียยาว 30–40 ซม. ช่อย่อยยาว 8–12 ซม. ดอกเพศเมียออกเดี่ยว ๆ หรือออกเป็นคู่กับดอกเพศผู้ที่เป็นหมัน รังไข่มี 3 ช่อง ยอดเกสรเพศเมีย 3 อัน ผลรูปไข่กลับ กว้าง 6–8 ซม. ยาว 5–6 ซม. มีเกล็ดเป็นหนามสีแดงหุ้มหนาแน่น มี 1–3 เมล็ด ผนังหนา
พบที่จีนตอนใต้ พม่า และภาคเหนือของไทยที่แม่ฮ่องสอน ขึ้นตามที่โล่งมีน้ำขัง หรือริมลำธารในป่าเบญจพรรณ ความสูงถึงประมาณ 700 เมตร
สกุล Salacca Reinw. อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Calamoideae เผ่า Calameae มี 20 ชนิด พบที่อินเดีย จีนตอนใต้ พม่า เวียดนาม และภูมิภาคมาเลเซีย ในไทยมี 4 ชนิด รวมถึงระกำ S. wallichiana Mart. ที่เป็นไม้ผล ส่วนสละ S. zalacca (Gaertn.) Voss มีถิ่นกำเนิดในอินโดนีเซีย ชื่อสกุลมาจากชื่อพื้นเมือง “Salak” ที่ใช้เรียกสละ
|