สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ตองผ้า

ตองผ้า
วันที่ 12 ตุลาคม 2559

Sumbaviopsis albicans (Blume) J.J.Sm.

Euphorbiaceae

ไม้ต้น ส่วนมากสูงไม่เกิน 10 ม. แยกเพศร่วมต้น ใบเรียงเวียน รูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 7–35 ซม. โคนแบบก้นปิด แผ่นใบด้านล่างมีขนสีขาวหนาแน่น ก้านใบยาว 1.5–11 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงหรือคล้ายช่อกระจะ ออกที่ปลายกิ่ง มีขนสั้นนุ่ม ช่อดอกเพศผู้ยาวได้ถึง 16 ซม. ช่อดอกเพศเมียยาวกว่า 2 เท่า ใบประดับรูปไข่ ยาวประมาณ 3 มม. ก้านดอกยาว 2–5 มม. ดอกเพศผู้ออกเป็นกระจุก 3 ดอก กลีบเลี้ยง 3–5 กลีบ รูปไข่ ยาวประมาณ 5 มม. มีขนกระจุกสั้นนุ่ม กลีบดอกสั้นกว่ากลีบเลี้ยง เกสรเพศผู้จำนวนมาก ดอกเพศเมียออกเดี่ยว ๆ กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน ยาว 3–4 มม. มีขนกระจุกสั้นนุ่ม ไม่มีกลีบดอก รังไข่มีขน ก้านเกสรเพศเมีย 3 อัน ยาวประมาณ 3 มม. ปลายแยก 2 แฉก ผลแห้งแตก มี 3 พู เส้นผ่านศูนย์กลาง 2–3.5 ซม. มีขนสั้นนุ่มสีเหลืองอมน้ำตาลหนาแน่น มี 2–3 เมล็ด รูปรี ยาวประมาณ 2 ซม.

พบที่อินเดีย พม่า จีนตอนใต้ ลาว เวียดนาม คาบสมุทรมลายู สุมาตรา ชวา บอร์เนียว และฟิลิปปินส์ ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น โดยเฉพาะที่เป็นหินปูน ความสูงถึงประมาณ 800 เมตร เมล็ดกินได้

สกุล Sumbaviopsis J. J. Sm. อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Acalyphoideae เผ่า Chrozophoreae และเผ่าย่อย Doryxylinae มีเพียงชนิดเดียว ชื่อสกุลหมายถึงคล้ายกับสกุล Sumbavia ซึ่งเป็นชื่อเกาะในอินโดนีเซีย

ชื่อพ้อง  Adisca albicans Blume

ชื่ออื่น   กระดาษ (ลำปาง); ครกตะกั่ว (พิษณุโลก); ตองผ้า (ลำปาง); ตะกัว, สะกัว (นครราชสีมา)

ตองผ้า: โคนใบแบบก้นปิด แผ่นใบด้านล่างมีขนสีขาวหนาแน่น ผลแห้งแตก มี 3 พู มีขนสั้นนุ่มสีเหลืองอมน้ำตาลหนาแน่น (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

van Welzen, P.C. (2007). Euphorbiaceae (Sumbaviopsis). In Flora of Thailand Vol. 8(2): 562–564.