ไม้ต้น สูงได้ถึง 10 ม. แยกเพศต่างต้น หูใบรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 4 มม. ใบเรียงเวียน รูปรีถึงรูปขอบขนาน ยาว 15–24 ซม. ขอบใบจักฟันเลื่อยห่าง ๆ มีต่อมระหว่างจัก ก้านใบยาว 2.5–3.5 ซม. ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่น กลีบเลี้ยงและกลีบดอกจำนวนอย่างละ 5 กลีบ ช่อดอกเพศผู้ยาวได้ถึง 10 ซม. ก้านดอกยาว 0.8–1 ซม. กลีบเลี้ยงรูปถ้วย ยาวประมาณ 1 ซม. มีขน กลีบดอกรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 8 มม. เกสรเพศผู้ 14–22 อัน เรียง 2 วง ก้านชูอับเรณูยาว 2–5 มม. ช่อดอกเพศเมียสั้น ก้านดอกยาว 0.7–1 ซม. กลีบเลี้ยงรูปรี ยาวประมาณ 3 มม. ติดทน ไม่ขยายในผล กลีบดอกรูปรี ยาวประมาณ 4 มม. รังไข่มีตุ่ม ก้านเกสรเพศเมียหนา ยาวประมาณ 3 มม. ยอดเกสรสั้น ๆ 3 อัน ปลายแยกเป็น 2 แฉก ติดทน ผลแห้งแตก กลม เส้นผ่านศูนย์กลางยาว 2.5–2.8 ซม. ผิวเป็นตุ่ม มีประมาณ 3 เมล็ด รูปไข่กลับ ยาวประมาณ 8 มม.
พบที่คาบสมุทรมลายู บอร์เนียว และสุมาตรา ในไทยพบทางภาคใต้ตอนล่างที่นราธิวาส ขึ้นตามสันเขาในป่าดิบชื้น ความสูงประมาณ 500 เมตร
สกุล Dimorphocalyx Thwaites มีประมาณ 12 ชนิด พบที่อินเดีย ศรีลังกา ไห่หนาน ภูมิภาคมาเลเซีย และออสเตรเลีย ในไทยมี 2 ชนิด อีกชนิด คือ D. malayanus Hook.f. หรือเข็มใหญ่ พบเฉพาะทางภาคใต้เช่นกัน ขอบใบเรียบ ผลเรียบ และกลีบเลี้ยงขยายในผล ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “dis” สองเท่า “morphe” รูปร่าง และ “kalyx” กลีบเลี้ยง ตามลักษณะกลีบเลี้ยงที่มีทั้งขยายและไม่ขยายในผล
|