ไม้ล้มลุกกินแมลง ไหลเป็นเส้นรูปเส้นด้าย ใบออกจากไหล รูปแถบ ยาวได้ถึง 2.5 ซม. กับดักแมลงติดบนไหลและใบรูปกระเปาะกลม ๆ ยาว 1–2 มม. ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกเดี่ยว ๆ ตั้งตรง เกลี้ยง สูงได้ถึง 53 ซม. ใบประดับติดที่โคน มี 1–15 ดอก ก้านดอกยาวได้ถึง 1.2 ซม. มีปีกแคบ ๆ กลีบเลี้ยงแฉกลึก รูปไข่แคบ ยาว 6–8 มม. ดอกสีม่วงเข้ม ยาวประมาณ 1 ซม. กลีบล่างมีเดือยรูปลิ่ม ยาว 5–7 มม. ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 2 มม. ผลรูปรี ยาว 3–4 มม. เมล็ดผิวเรียบ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ สร้อยสุวรรณา, สกุล)
พบที่ภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ขึ้นตามที่โล่งที่ชื้นแฉะบนลานหินทราย ในป่าสน และป่าเต็งรัง ความสูงถึงประมาณ 1300 เมตร แยกเป็น var. minor Pellegr. พืชถิ่นเดียวของไทย พบที่เลย และตราด ต้นเตี้ยกว่า ดอกเรียงหนาแน่นที่ปลายช่อ และมีเดือยสั้นกว่า
|