สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ดำตะโก

ดำตะโก
วันที่ 12 ตุลาคม 2559

Diospyros wallichii King & Gamble

Ebenaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 30 ม. มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดงตามกิ่งอ่อน และแผ่นใบด้านล่าง ใบรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 12–40 ซม. ปลายแหลมหรือมีติ่งแหลม โคนรูปลิ่มกว้าง หรือเว้าตื้น เส้นแขนงใบข้างละ 12–30 เส้น ก้านใบยาวได้ถึง 1.5 ซม. ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อกระจุกสั้น ๆ ก้านดอกยาว 1.5–3 มม. กลีบเลี้ยงรูประฆัง ยาว 3–4 มม. ส่วนมากมี 4 กลีบ แฉกตื้น ๆ ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม ด้านในมีขนละเอียด ดอกรูปดอกเข็ม ยาว 0.8–1.2 ซม. ส่วนมากมี 4 กลีบ เกสรเพศผู้มี 14–18 อัน รังไข่ที่ไม่เจริญมีขนยาว ดอกเพศเมียออกเป็นกระจุก 1–3 ดอก ผลรูปรีกว้าง ยาว 2–3 ซม. ก้านผลหนา ยาว 0.5–1 ซม. กลีบเลี้ยงหนา จักตื้น ๆ พับจีบ มีขนกำมะหยี่หนาแน่น เอนโดสเปิร์มเรียบ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ มะเกลือ, สกุล)

พบที่พม่า คาบสมุทรมลายู สุมาตรา บอร์เนียว ภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้ของไทย ขึ้นตามป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 700 เมตร ผลใช้เบื่อปลา

ชื่ออื่น   กุมุง (มาเลย์-ปัตตานี); กุมู (มาเลย์-สงขลา); ข้าวไหม้, เฉียด, ดำเขา, ดำตะโก (ภาคใต้); ตะกราย (ยะลา); เนียนป่า (สงขลา)

ดำตะโก: ใบรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อกระจุกสั้น ๆ กลีบเลี้ยงด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม ก้านผลและกลีบเลี้ยงหนา มีขนกำมะหยี่หนาแน่น (ภาพ: สุคนธ์ทิพ์ ศิริมงคล, มานพ ผู้พัฒน์)



เอกสารอ้างอิง

Phengklai, C. (1981). Ebenaceae. In Flora of Thailand Vol. 2(4): 383.

Slik, J.W.F. (2009 onwards). Plants of Southeast Asia. http://www.asianplant.net/Ebenaceae/Diospyros_wallichii.htm