Index to botanical names
ดันหมี
Cardiopteridaceae
ไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง 15 ม. แยกเพศต่างต้นแกมดอกสมบูรณ์เพศหรือมีเฉพาะดอกสมบูรณ์เพศ ใบเรียงเวียน รูปรี รูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่กลับ ยาว 8–25 ซม. แผ่นใบหนา เส้นแขนงใบเรียงจรดกันใกล้ขอบใบ ก้านใบสีเหลืองอมส้ม ยาว 1–2 ซม. ช่อดอกเพศผู้แบบช่อเชิงลด ออกสั้น ๆ ตามซอกใบ ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยง 5 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม รูปรี ยาวประมาณ 2 มม. ขอบมีขนครุย ดอกสีขาว หลอดกลีบดอกยาว 5–6 มม. ปลายแยก 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดภายในหลอดกลีบตรงข้ามกลีบดอก ก้านชูอับเรณูยาว 3–4 มม. อับเรณูติดด้านหลัง ดอกเพศเมียหรือดอกสมบูรณ์เพศออกเป็นช่อกระจะสั้น ๆ ดอกขนาดเล็กกว่าดอกเพศผู้ รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียสั้น มีขน ยอดเกสรจักตื้น ๆ 3 พู ผลผนังชั้นในแข็ง รูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 3–5 ซม. มีริ้ว สุกสีดำอมม่วง ผนังผลหนา 3–4 มม. คล้ายฟองน้ำมีเส้นใย ผนังชั้นในแข็ง หนา 1–1.5 มม.พบที่จีนตอนใต้ และไห่หนาน พม่า ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมาเลเซีย และบอร์เนียว เมล็ดให้น้ำมัน ในประเทศจีนใช้ผสมในการทำสบู่และน้ำมันหล่อลื่นสกุล Gonocaryum Miq. เคยอยู่ภายใต้วงศ์ Icacinaceae มี 11 ชนิด พบในเอเชีย โดยเฉพาะในภูมิภาคมาเลเซีย ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “gonia” มุม และ “karyon” เมล็ดเปลือกแข็ง ตามลักษณะเมล็ด
ชื่อพ้อง Platea lobbiana Miers
ชื่ออื่น กัลปังหาต้น (ภูเก็ต); ก้านเหลือง, คำเกี้ยวต้น (ภาคเหนือ); ดันหมี, ปูตูบูแว (มาเลย์-นราธิวาส); มะดีควาย (เชียงใหม่); แสนเมือง (หนองคาย); หีควาย (ลำปาง)
ดันหมี: ก้านใบสีเหลืองอมส้ม ช่อดอกเพศผู้แบบช่อเชิงลด ออกสั้น ๆ ตามซอกใบ หลอดกลีบดอกยาว ผลมีริ้ว สุกสีดำอมม่วง (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)
Peng, H. and R.A. Howard. (2008). Icacinaceae. In Flora of China Vol. 11: 507.
Sleumer, H. (1970). Icacinaceae. In Flora of Thailand Vol. 2(1): 80–81.