ไม้เถาล้มลุก ยาวได้ถึง 5 ม. มีเหง้า ใบเรียงเวียน เรียงตรงข้าม หรือรอบข้อ 1–3 ใบ รูปขอบขนานถึงรูปใบหอก หรือแกมรูปไข่ ยาวได้ถึง 20 ซม. ปลายยาวคล้ายหาง ม้วนงอเป็นมือเกาะ ก้านใบสั้นมากหรือไร้ก้าน ดอกออกเดี่ยว ๆ ตามข้อ ก้านดอกยาว 4–20 ซม. กลีบรวม 6 กลีบ แยกกัน ด้านบนและขอบสีแดง ด้านล่างสีเหลือง หรือมีสีเหลืองอมเขียวหรือสีแดงทั้งดอก กลีบรูปใบหอก รูปแถบ หรือแกมรูปไข่กลับ ยาว 5–10 ซม. ขอบเป็นคลื่น มีก้าน ติดทน เกสรเพศผู้ 6 อัน ติดตรงข้ามกลีบรวม ก้านชูอับเรณูยาว 2–5 ซม. อับเรณูติดไหวได้ ยาวประมาณ 1 ซม. รังไข่มี 3 ช่อง ออวุลจำนวนมาก ก้านเกสรเพศเมียยาวเท่าเกสรเพศผู้ โคนก้านบิด ปลายจัก 3 พู ยาว 6–7 มม. ผลแห้งแตกตามรอยประสาน รูปขอบขนาน ยาว 4–6 ซม. เมล็ดรูปไข่ สีแดงอมส้ม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 มม.
พบในแอฟริกา มาดากัสการ์ อินเดีย เนปาล ศรีลังกา จีนตอนใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นเป็นวัชพืชในอเมริกาและออสเตรเลีย เป็นไม้ประดับ เหง้ามีสารโคลชิซีน (colchicines) มีพิษ มีสรรพคุณในการรักษาโรคเกาต์และมะเร็ง
สกุล Gloriosa L. เดิมอยู่ภายใต้วงศ์ Convallariaceae มี 5 ชนิด พบในแอฟริกาและเอเชีย ในไทยพบขึ้นเป็นวัชพืชชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษาละติน “gloriosus” สง่างาม ตามรูปร่างของดอก
|