สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ดอกแมงกระพรุน

ดอกแมงกระพรุน
วันที่ 12 ตุลาคม 2559

Rhizanthes infanticida Bänziger & B.Hansen

Rafflesiaceae

พืชเบียน ไม่มีคลอโรฟิลล์ อาศัยตามรากของพืชอาศัย ดอกและลำต้นออกจากหัวใต้ดิน ดอกมีเพศเดียว มีกลิ่นเหม็น กาบรูปถ้วย โคนมีเกล็ดรูปไข่เรียง 3–4 วง แต่ละวงมี 5 เกล็ด ดอกตูมรูปขอบขนานแกมรูปไข่ เส้นผ่านศูนย์กลาง 4.7–6.5 ซม. ดอกรูประฆังหงาย หลอดกลีบสั้น กลีบสีเหลืองซีด ปลายสีเข้มถึงสีน้ำตาล กลีบรวม 16 กลีบ รูปสามเหลี่ยมแคบ ยาว 5–10 ซม. เรียงจรดกัน ปลายกลีบมีรยางค์แข็ง ยาวคล้ายหาง ยาว 2.5–5 ซม. ในดอกเพศเมียสั้นกว่าเล็กน้อย มีริ้วตามแนวรัศมี มีขนและแผ่นเกล็ดบางแตกแขนง (ramenta) สีน้ำตาลเข้มหนาแน่น ขนยาว 0.6–1 ซม. ปลายเป็นตะขอแยกแขนง แผ่นเกล็ดยาว 0.5–2 มม. กระเปาะเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.3–1.7 ซม. ในดอกเพศผู้ ในดอกเพศเมียขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย ด้านนอกมีขนยาว 3–6 มม. เกลี้ยงหรือมีขนประปราย เส้าเกสรยาว 1.2–2.2 ซม. กลางเส้าเกสรกลม ยอดเป็นกระเปาะสีน้ำตาลแกมชมพู มีช่องเปิด มีขน อับเรณูจำนวนมาก เรียงเป็นวงแหวน มี 2 ช่อง ซ้อนกัน ลดรูปในดอกเพศเมีย ติดเป็นแถวเล็ก ๆ ก้านเกสรเพศเมียยาว 4.5–7 มม. ยอดเกสรเพศเมียคล้ายพังผืด กว้าง 6.5–9.5 มม.

พบที่คาบสมุทรมลายู สุมาตรา และภาคใต้ตอนล่างของไทยที่นราธิวาส ขึ้นตามป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 450 เมตร เบียนราก Tetrastigma pedunculare (Wall. ex M.A.Lawson) Planch. และ T. papillosum Planch. คำระบุชนิดหมายถึงการตายของตัวอ่อนของแมลงหลังผสมเกสร

สกุล Rhizanthes Dumort. มี 4 ชนิด พบที่คาบสมุทรมลายู ชวา สุมาตรา และบอร์เนียว ในไทยมีชนิดเดียว ส่วน บัวครั่ง R. zippelii (Blume) Spach ที่เคยระบุว่าพบในไทยด้วยเป็นพืชถิ่นเดียวของชวา ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “rhiza” ราก และ “anthos” ดอก หมายถึงพืชที่ดอกออกจากราก

ดอกแมงกระพรุน: ถิ่นที่อยู่ในป่าดิบชื้น ดอกรูประฆังหงาย กลีบรวม 16 กลีบ รูปสามเหลี่ยมแคบ มีขนหนาแน่น ปลายกลีบมีรยางค์แข็ง ยาวคล้ายหาง ดอกแก่บานออก (ภาพ: Hans Bänziger)



เอกสารอ้างอิง

Bänziger, H. and B. Hansen. (2000). A new taxonomic revision of a deceptive flower, Rhizanthes Dumortier (Rafflesiaceae). Natural History Bulletin of Siam Society 48: 117–143.