สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ดอกหรีด

ดอกหรีด  สกุล
วันที่ 12 ตุลาคม 2559

Gentiana L.

Gentianaceae

ไม้ล้มลุก ใบเรียงตรงข้าม เรียงเป็นกระจุกเวียนรอบข้อ หรือเป็นกระจุกที่โคน ไร้ก้าน มีเส้นใบเส้นเดียว ดอกออกเป็นช่อกระจุกที่ปลายกิ่งหรือซอกใบ บางครั้งมีดอกเดียว กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอด ส่วนมากมี 5 กลีบ เส้นกลางกลีบหนา กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดหรือรูประฆัง ส่วนมากมี 5 กลีบ พับจีบระหว่างกลีบ เกสรเพศผู้เท่าจำนวนกลีบดอก ติดใต้จุดกึ่งกลางหลอดกลีบดอก โคนก้านชูอับเรณูขยาย แบน รังไข่มีก้าน มีช่องเดียว ยอดเกสรเพศเมียแยก 2 แฉก ผลแห้งแตก เมล็ดขนาดเล็ก จำนวนมาก มีปีกแคบ ๆ

สกุล Gentiana มีประมาณ 360 ชนิด พบในแอฟริกา อเมริกา เอเชีย ยุโรป และออสเตรเลีย พบมากในประเทศจีน ในไทยมีประมาณ 10 ชนิด ชื่อสกุลเป็นภาษาละตินที่ใช้เรียกพืชที่ชอบขึ้นตามที่สูง


ดอกหรีด
วันที่ 12 ตุลาคม 2559

Gentiana nudicaulis Kurz subsp. Lakshnakarae (Kerr) Halda

Gentianaceae

ไม้ล้มลุก ลำต้นสั้นทอดนอนหรือตั้งตรง แตกกิ่ง ใบเรียงรอบข้อชิดกันใกล้ปลายกิ่ง รูปไข่ ยาว 1–6 ซม. ขอบบาง โคนตัดโอบลำต้น ดอกออกเป็นกระจุกแน่นที่ปลายกิ่ง หลอดกลีบเลี้ยงยาว 4–8 มม. ปลายแยกเป็นแฉกรูปแถบหรือรูปใบหอก ยาวเท่า ๆ หลอดกลีบเลี้ยง ปลายแหลม ดอกสีม่วงอมน้ำเงิน หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 1.3 ซม. กลีบรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 2 มม. ก้านชูอับเรณูยาว 3–5 มม. ก้านเกสรเพศเมียสั้นมาก ผลรูปไข่ ยาว 0.6–1.1 ซม. ปลายมีปีก ก้านยาวประมาณ 3.5 มม.

พืชถิ่นเดียวของไทย พบที่ภูกระดึง และภูหลวง จังหวัดเลย ขึ้นตามทุ่งหญ้า หรือที่โล่งในป่าสนเขา ความสูงประมาณ 1200 เมตร แยกเป็น subsp. ting-nung-hoae (Halda) T.N.Ho พบที่กัมพูชา ส่วน subsp. nudicaulis พบที่อินเดีย พม่า และคาบสมุทรมลายู

ชื่อพ้อง  Gentiana lakshnakarae Kerr, G. hesseliana Hosseus var. lakshnakarae (Kerr) Toyok.

ชื่ออื่น   ดอกหรีด (เลย); ดอกหรีดกอ, ลักษณา (ทั่วไป)

ดอกหรีด: ลำต้นสั้นทอดนอนหรือตั้งตรง แตกกิ่ง ใบเรียงรอบข้อชิดกันใกล้ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงรูปแถบหรือรูปใบหอก ยาวเท่า ๆ หลอดกลีบ กลีบดอกพับจีบจักชายครุย (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)

ดอกหรีดเชียงดาว
วันที่ 12 ตุลาคม 2559

Gentiana leptoclada Balf.f. & Forrest subsp. australis (Craib) Halda

Gentianaceae

ไม้ล้มลุก ลำต้นเป็นเหลี่ยม มีปีกแคบ ๆ ใบรูปไข่ ใบตามกิ่งขนาดเล็กกว่าใบตามลำต้น ยาวได้ถึง 1.3 ซม. โคนตัดโอบรอบลำต้น ขอบใบจักฟันเลื่อย หลอดกลีบเลี้ยงยาว 4–7 มม. มีสันเป็นปีกตามยาว ปีกจักชายครุยสั้น ๆ กลีบรูปใบหอก ยาว 2–5 มม. ปลายมีติ่งแหลม ดอกสีม่วงอมน้ำเงิน หลอดกลีบดอกยาว 1–2.5 ซม. กลีบรูปสามเหลี่ยม ยาว 4–5 มม. แฉกลึกไม่เท่ากัน แฉกสั้น กลีบพับจีบจักชายครุย ก้านชูอับเรณูยาว 5–7.5 มม. ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 7 มม. ผลรูปขอบขนาน ยาว 1.5–2 ซม. ก้านยาวประมาณ 8 มม.

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคเหนือที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นตามที่โล่งบนเขาหินปูน ความสูง 1600–1800 เมตร ส่วน subsp. leptoclada พบที่จีนทางตอนใต้ เกสรเพศผู้ยาวไม่เท่ากัน ก้านผลยาวได้ถึง 2 ซม.

ชื่อพ้อง  Gentiana australis Craib

ดอกหรีดเชียงดาว: กลีบดอกแฉกลึกไม่เท่ากัน กลีบพับจีบจักชายครุย (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)

ดอกหรีดกอ
วันที่ 12 ตุลาคม 2559

Gentiana nudicaulis Kurz subsp. Lakshnakarae (Kerr) Halda

Gentianaceae

ดูที่ ดอกหรีด



เอกสารอ้างอิง

Ho, T.N. and J.S. Pringle. (1995). Gentianaceae. In Flora of China Vol. 16: 15.

Ubolcholaket, A. (1987). Gentianaceae. In Flora of Thailand. Vol. 5(1): 82–89.