สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ดอกดิน

ดอกดิน
วันที่ 31 กรกฎาคม 2560

Burmannia coelestis D.Don

Burmanniaceae

ดูที่ สรัสจันทร

ดอกดิน  สกุล
วันที่ 28 กันยายน 2559

Aeginetia L.

Orobanchaceae

พืชเบียนล้มลุก ใบขนาดเล็กสีเดียวกับลำต้น ดอกออกเป็นช่อเดี่ยว ๆ แบบช่อกระจะ หรือเป็นกระจุก 2–3 ดอก กลีบเลี้ยงจักไม่ชัดเจน แฉกข้างเดียวรูปใบพาย กลีบดอกเชื่อมติดเป็นหลอด กลีบรูปปากเปิด คอดเหนือรังไข่ กลีบบน 2 กลีบ กลีบล่าง 3 กลีบ เกสรเพศผู้ 4 อัน ไม่ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูโป่ง อันที่ติดกลีบบนมีเดือย อับเรณูมีรูเปิดด้านบน มี 2 คาร์เพล ก้านเกสรเพศเมียติดทน ยอดเกสรเพศเมียรูปโล่ ผลแห้งแตก เมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก

สกุล Aeginetia เป็นพืชเบียนแบบ hemiparasite มี 4–5 ชนิด พบที่อินเดีย จีน พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและภูมิภาคมาเลเซีย ในไทยมี 2 ชนิด คล้ายกับสกุลว่านดอกสามสี Christisonia ที่กลีบเลี้ยงแยกเป็น 3–5 แฉก ชื่อสกุลตั้งตามนายแพทย์ชาวอียิปต์ Paulus Aegineta ในช่วงศตวรรษที่ 7


ดอกดิน
วันที่ 28 กันยายน 2559

Aeginetia pedunculata Wall.

Orobanchaceae

พืชเบียนล้มลุก ลำต้นเดี่ยวสีน้ำตาลแดง สูงได้ถึง 15 ซม. ดอกออกตามลำต้นคล้ายเป็นช่อ 1–3 ดอก ก้านดอกหนา ยาว 2–4 ซม. กลีบเลี้ยงยาวได้ถึง 4 ซม. สีน้ำตาลอมเหลือง ปลายมีติ่งแหลม ดอกยาว 5–7 ซม. หลอดกลีบดอกสีเหลืองอ่อน ด้านในสีเหลืองเข้ม กลีบสีม่วงเข้ม รูปกลม ขนาดเท่า ๆ กัน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. กลีบบานออก ขอบจักซี่ฟันไม่เป็นระเบียบ เกสรเพศผู้ติดที่เหนือจุดกึ่งกลางหลอดกลีบ มีขนเป็นกระจุกที่โคน ก้านชูอับเรณูเกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียโค้ง ยาวประมาณ 2 ซม. ผลรูปรี ยาวประมาณ 2 ซม.

พบที่อินเดีย จีน พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง หรือเขาหินปูน ความสูงถึงประมาณ 1100 เมตร

ชื่อพ้อง  Aeginetia acaulis (Roxb.) Walp.

ชื่ออื่น   กะเปเส้ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ข้าวก่ำนกยูง (เลย); ดอกดิน (ทั่วไป); นูนดิน (ตาก); พิศวง (กรุงเทพฯ); เพาะลาพอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ว่านดอกต่างใบ (สุราษฎร์ธานี); ว่านหญ้าแฝก (สระบุรี); เอื้องงก (ภาคเหนือ); เอื้องดิน (ภาคกลาง)

ดอกดิน: ลำต้นสีน้ำตาลแดง ดอกออกตามลำต้นคล้ายเป็นช่อ 1–3 ดอก หลอดกลีบดอกสีเหลืองอ่อน ด้านในสีเหลืองเข้ม กลีบสีม่วงเข้ม ขนาดเท่า ๆ กัน บานออก ขอบจักซี่ฟันไม่เป็นระเบียบ (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

ดอกดินแดง
วันที่ 28 กันยายน 2559

Aeginetia indica L.

Orobanchaceae

พืชเบียนล้มลุก สูงได้ถึง 40 ซม. ส่วนต่าง ๆ สีน้ำตาลอ่อนหรือน้ำตาลแดง มักมีริ้วสีเข้ม ดอกออกเดี่ยว ๆ กลีบเลี้ยงยาว 2.5–3 ซม. ปลายแหลม ดอกยาว 2–4 ซม. หลอดกลีบดอกสีขาว ม่วงอ่อน หรือม่วงเข้ม แผ่นกลีบเส้นผ่านศูนย์กลาง 2–3 มม. บานออกเล็กน้อย ขอบกลีบเรียบ ภายในหลอดกลีบสีเดียวกับด้านนอกหรือเข้มกว่า เกสรเพศผู้ติดที่ประมาณจุดที่หลอดกลีบงอ ก้านชูอับเรณูเกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียโค้ง ยาว 1–1.5 ซม. ผลรูปกรวย ยาวประมาณ 2.5 ซม.

พบที่อินเดีย ศรีลังกา จีน ญี่ปุ่น พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและภูมิภาคมาเลเซีย นิวกินี ในไทยพบทุกภาค มักขึ้นเป็นกลุ่มหนาแน่น ความสูงถึงประมาณ 1600 เมตร มีความผันแปรสูง ทั้งรูปร่าง ขนาด และสีของดอก ทั้งต้นลวกกินกับน้ำพริก คั้นน้ำให้สีม่วงดำใช้ทำขนมหรือผสมข้าวเหนียวเป็นข้าวก่ำ มีสรรพคุณขับพิษ แก้อักเสบ

ชื่อสามัญ  Forest ghost flower, Ghost flower, Indian broomrape

ชื่ออื่น   ซอซวย (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ดอกดินแดง (ตราด); ปากจะเข้ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); สบแล้ง (สงขลา); หญ้าดอกขอ (เลย)

ดอกดินแดง: ดอกออกเดี่ยว ๆ หลอดกลีบดอกสีขาวหรือม่วงอ่อน ขอบกลีบเรียบ ผลรูปกรวย (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ, ราชันย์ ภู่มา)

ดอกดิน
วันที่ 29 พฤษภาคม 2560

Christisonia siamensis Craib

Orobanchaceae

ดูที่ ว่านดอกสามสี



เอกสารอ้างอิง

Parnell, J. (2008). Orobanchaceae. In Flora of Thailand Vol. 9(2): 143–147.

Zhang, Z.Y. and N.N. Tzvelev. (1998). Orobanchaceae. In Flora of China Vol. 18: 229, 240–242.