| ซ้อ
| | | วันที่ 28 กันยายน 2559 |
| |
ไม้ต้น สูงได้ถึง 30 ม. ใบรูปไข่กว้าง ยาว 7–25 ซม. แผ่นใบด้านล่างมีนวลและขนสั้นนุ่ม เส้นใบออกจากโคนข้างละ 1 เส้น ก้านใบยาว 3–10 ซม. ช่อดอกออกที่ปลายกิ่ง ยาว 7–20 ซม. ช่อกระจุกย่อยมี 1–3 ดอก ใบประดับรูปแถบ ยาว 7–8 มม. กลีบเลี้ยงยาว 3–5 มม. ปลายจักรูปสามเหลี่ยม 5 จักตื้น ๆ ด้านนอกมีขน ดอกยาว 2–4 ซม. ด้านนอกสีน้ำตาลแดง ด้านในสีครีมอ่อน กลีบปากล่างกลีบกลางด้านในมีสีเหลืองแซม มีขนสั้นนุ่มด้านนอก เกสรเพศผู้ยื่นไม่พ้นปากหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูติดใต้กึ่งกลางหลอดกลีบดอก รังไข่เกลี้ยง มีต่อมกระจาย ผลสุกสีเหลือง รูปไข่ ยาว 1.5–2.5 ซม.
พบที่อินเดีย ศรีลังกา เนปาล บังกลาเทศ ภูฏาน พม่า จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา และป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 1500 เมตร นิยมปลูกเป็นไม้สวนป่าในหลายประเทศ ใช้ทำกระดาษ ใบมีสรรพคุณแก้ไอ ช่วยขับลม ขับปัสสาวะ เป็นยาระบาย ลดการอักเสบ แก้หนองใน และใช้เลี้ยงสัตว์
| | | ชื่อสามัญ Beechwood, Goomar teak, Kashmir tree, Malay beechwood, White teak
| ชื่ออื่น กำม่าทุ (กะเหรี่ยง-กำแพงเพชร, กาญจนบุรี); แก้มอ้น (นครราชสีมา); ช้องแมว (ชุมพร); ซ้อ (ภาคเหนือ); เซาะแมว (มาเลย์-นราธิวาส); แต้งขาว เชียงใหม่); ท้องแมว (ราชบุรี, สุพรรณบุรี); เป้านก (อุตรดิตถ์); เฝิง (ภาคเหนือ); ม้าเหล็ก (ละว้า-กาญจนบุรี); เมา (สุราษฎร์ธานี); แม่ะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ร่มม้า, รำม้า (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี); สันปลาช่อน (สุโขทัย)
| | ซ้อ: ช่อดอกแบบช่อกระจุก แยกแขนงสั้น ๆ ดอกรูปแตร กลีบเลี้ยงปลายจักรูปสามเหลี่ยม กลีบดอกไม่สมมาตร ผลรูปไข่ (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล, ราชันย์ ภู่มา)
|
|
|