สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ช้าแป้น

ช้าแป้น
วันที่ 28 กันยายน 2559

Callicarpa arborea Roxb.

Lamiaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 15 ม. กิ่งมีขนรูปดาวสั้นนุ่มหนาแน่นตามกิ่ง แผ่นใบด้านล่าง เส้นกลางใบด้านบน ก้านใบ ช่อดอก กลีบเลี้ยงด้านนอก และรังไข่ ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี รูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่ ยาว 10–35 ซม. ปลายแหลม โคนรูปลิ่มหรือกลม แผ่นใบหนา มีต่อมกระจาย ก้านใบยาว ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง แผ่กว้าง เส้นผ่านศูนย์กลาง 6–12 ซม. ก้านช่อยาวกว่าก้านใบ เป็นเหลี่ยมเล็กน้อย ใบประดับรูปแถบขนาดเล็ก ร่วงเร็ว ก้านดอกยาวประมาณ 1.5 มม. กลีบเลี้ยงรูปถ้วย ขอบตัด ดอกสีม่วง หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 3 มม. ปลายแยกเป็น 4 แฉกรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 1 มม. ด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขนประปราย เกสรเพศผู้ 4 อัน ติดภายในหลอดกลีบดอก ยาวกว่ากลีบดอก อับเรณูแตกตามยาว รังไข่มี 2 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 2 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียยาวกว่าเกสรเพศผู้เล็กน้อย ยอดเกสรแผ่กว้าง ผลสด ผนังชั้นในแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 มม. สุกสีม่วงอมชมพู

พบที่อินเดีย ศรีลังกา ภูฏาน เนปาล บังกลาเทศ จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู สุมาตรา ฟิลิปปินส์ และนิวกินี ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าดิบชื้น และป่าชายหาด ความสูงถึงประมาณ 1800 เมตร เปลือกมีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่าง

สกุล Callicarpa L. มีประมาณ 140 ชนิด พบในอเมริกาเขตร้อน แอฟริกา และเอเชีย ในไทยมีพืชพื้นเมืองประมาณ 12 ชนิด ส่วนมากมีเกสรเพศผู้ 4 อัน และกลีบดอก 4 กลีบ ยกเว้น ปอนน C. pentandra Roxb. มีอย่างละ 5 ในไทยพบทางภาคใต้ตอนล่าง และมีไม้ประดับอีกหนึ่งชนิด คือ ราชาไข่มุก C. americana L. หรือ American beautyberry มีถิ่นกำเนิดในสหรัฐอเมริกา เป็นไม้พุ่ม ใบขยี้ใช้กันยุง ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “kalli” สวย และ “karpos” ผล ตามลักษณะผล

ชื่อสามัญ  Beautyberry tree

ชื่ออื่น   กะตอกช้าง (ยะลา); ขลุ่ย (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่); ช้าแป้น (สระบุรี); ดือดะดาปู (มาเลย์-นราธิวาส); ตาโมงปะสี (ยะลา); เตน (เลย); ทับแป้ง (สระบุรี); เปอควุย (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ผ้า (เชียงใหม่, ภาคกลาง); ผ้าลาย (ภาคใต้); ฝ้า, ฝ้าขาว (ภาคเหนือ); พ่า (ภาคกลาง); พ่าขาว (ภาคเหนือ); มะผ้า (แม่ฮ่องสอน); และทุ่ง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); สักขี้ไก่ (ลำปาง); เสี้ยม (จันทบุรี); หูควาย (ตรัง, ภาคเหนือ); หูควายขาว (สุราษฎร์ธานี); หูควายใหญ่ (ชุมพร)

ช้าแป้น: ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ดอกสีม่วง มี 4 กลีบ เกสรเพศผู้ 4 อัน ยาวกว่ากลีบดอก ก้านเกสรเพศเมียยาวกว่าเกสรเพศผู้เล็กน้อย (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Chen, S.L. and M.G. Gilbert. (1994). Verbenaceae. In Flora of China Vol. 17: 4, 6.

Leeratiwong, C., P. Chantaranothai and A.J. Paton. (2009). A synopsis of the genus Callicarpa L. (Lamiaceae) in Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 37: 36–58.