สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ช้าเรือด

ช้าเรือด
วันที่ 28 กันยายน 2559

Caesalpinia mimosoides Lam.

Fabaceae

ไม้พุ่มหรือกึ่งเลื้อย มีหนามและขนสากกระจายตามลำต้น ช่อดอก และก้านดอก หูใบรูปลิ่มแคบ ยาว 0.7–1.5 ซม. ร่วงเร็ว ใบประกอบมีใบประกอบย่อย 10–30 ใบ แกนกลางยาว 25–40 ซม. ใบย่อยมี 10–20 คู่ รูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1 ซม. ปลายกลมมีติ่งหนามสั้น ๆ โคนเบี้ยว เกือบไร้ก้าน ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่ง ยาวได้ถึง 30 ซม. ใบประดับรูปลิ่มแคบ ยาวประมาณ 4 มม. มีขนยาว ก้านดอกยาว 2–3 ซม. ปลายก้านมีรอยต่อ กลีบเลี้ยงมีขนยาวและต่อมกระจาย กลีบล่างโค้ง ดอกสีเหลืองยาว 1.5–2 ซม. กลีบกลางรูปไข่กลับ ขนาดเล็ก มีเส้นกลีบสีแดง ก้านชูอับเรณูมีขนหนาแน่น รังไข่มีขนสั้นนุ่ม ฝักพอง รูปขอบขนาน ปลายโค้ง โคนแคบ ยาว 5–5.5 ซม. ปลายมีจะงอย มี 2 เมล็ด รูปรี แบน ยาวประมาณ 1 ซม. (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ หนามขี้แรด, สกุล)

พบที่อินเดีย พม่า จีนตอนใต้ และภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบทุกภาค ภาคใต้ถึงชุมพร ขึ้นตามชายป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง สองข้างถนน ความสูงถึงประมาณ 500 เมตร ยอดอ่อนกินเป็นผักสด ช่อดอกอ่อนใช้ปรุงอาหาร

ชื่ออื่น   ช้าเรือด (ทั่วไป); ทะเน้าซอง (ภาคเหนือ); ผักกาดหญ้า (ปราจีนบุรี); ผักขะยา (นครพนม); ผักคายา (เลย); ผักปู่ย่า, หนามปู่ย่า (ภาคเหนือ)

ช้าเรือด: ช่อดอกแบบช่อกระจะ กลีบกลางรูปไข่กลับ ขนาดเล็ก มีเส้นกลีบสีแดง ฝักพอง ปลายโค้ง โคนแคบ ปลายมีจะงอย (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ, ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Larsen, K., S.S. Larsen and J.E. Vidal. (1984). Leguminosae-Caesalpinioideae. In Flora of Thailand Vol. 4(1): 67–69.