สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ช้าส้าน

ช้าส้าน  สกุล
วันที่ 28 กันยายน 2559

Saurauia Willd.

Actinidiaceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น กิ่งมักกลวง ใบเรียงเวียน ขอบเรียบหรือจักฟันเลื่อย ดอกออกเป็นกระจุก ออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นช่อแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ซอกใบ บนกิ่ง หรือตามลำต้น สมบูรณ์เพศหรือคล้ายมีเพศเดียว ใบประดับย่อยมี 2 ใบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกจำนวนอย่างละ 5 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม กลีบเลี้ยงติดทน เกสรเพศผู้ 15 อันหรือมีจำนวนมาก ติดที่โคนหลอดกลีบดอก อับเรณูปลายมีรูเปิด รังไข่ส่วนมากมี 3–5 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียส่วนมากมี 3 หรือ 5 อัน โคนเชื่อมติดกัน ผลสด หรือคล้ายเป็นหนังหนาแห้งแตกออกด้านบน เมล็ดจำนวนมาก ขนาดเล็ก

สกุล Saurauia เดิมอยู่ภายใต้วงศ์ Saurauiaceae มีประมาณ 300 ชนิด ส่วนใหญ่พบในอเมริกาและเอเชียเขตร้อน ในไทยมี 5–6 ชนิด ชื่อสกุลตั้งตามผู้สนับสนุนด้านศิลปะและวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรีย Friedrich von Saurau เพื่อนของ Carl Ludwig Willdenow นักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมัน


ช้าส้าน
วันที่ 28 กันยายน 2559

Saurauia napaulensis DC.

Actinidiaceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง 10 ม. มีขุย เกล็ด และขนสีน้ำตาลแดงตามกิ่งอ่อน ก้านใบ ช่อดอก และใบประดับ ใบรูปรี รูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่กลับ ยาว 15–35 ซม. แผ่นใบด้านล่างมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาล เส้นแขนงใบจำนวนมาก ก้านใบยาว 2–5 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบ ช่อยาว 15–35 ซม. ใบประดับยาว 3–5 มม. ก้านดอกยาว 1–2.5 ซม. กลีบเลี้ยงรูปไข่กว้าง ยาว 3–5 มม. ดอกสีชมพู ยาว 6–8 มม. หลอดกลีบดอกยาว 3–4 มม. ปลายกลีบพับงอกลับ เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 3 มม. รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียมี 3–5 อัน ติดทน ผลกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 ซม.

พบที่อินเดีย เนปาล พม่า จีนตอนใต้ และคาบสมุทรมลายู ในไทยพบกระจายแทบทุกภาค แต่ส่วนมากพบมากทางภาคเหนือ ขึ้นตามชายป่าดิบชื้น และป่าดิบเขา ความสูง 700–2200 เมตร รากมีสรรพคุณแก้ปวดท้อง ขับพิษ

ชื่ออื่น   ช้าส้าน, ส้านแก่น (เชียงใหม่)

ช้าส้าน: แผ่นใบด้านล่างมีขนสีน้ำตาล ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบ (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา, สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)



เอกสารอ้างอิง

Keng, H. (1972). Saurauiaceae. In Flora of Thailand Vol. 2(2): 109–111.

Li, J., X. Li and D. Doel Soejarto. (2007). Actinidiaceae. In Flora of China Vol. 12: 356, 358.

Rafidah, A.R. (2013). Actinidiaceae. In Flora of Peninsular Malaysia. Vol. 4: 5–24.