ไม้พุ่มหรือไม้ต้น อาจสูงได้ถึง 25 ม. หูใบขนาดเล็ก ร่วงเร็ว ใบเรียงเวียน รูปใบหอกแกมรูปไข่หรือรูปไข่กลับ ยาว 6–20 ซม. ขอบใบจักฟันเลื่อยถี่ ๆ แผ่นใบด้านบนเป็นมันวาว เส้นแขนงใบจำนวนมากเรียงขนานกัน ปลายโค้งจรดกันเป็นเส้นขอบใน ก้านใบยาว 2–6 มม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ยาวได้ถึง 35 ซม. ก้านดอกยาว 5–8 มม. ฐานดอกนูนกว้าง สูง 0.7–1 มม. ขยายในผล กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปรีหรือรูปไข่กลับ ยาว 4–7 มม. ขยายในผล ดอกสีเหลือง มี 5 กลีบ รูปไข่กลับหรือรูปใบพาย ยาว 4.5–8 มม. ปลายมนกลม เกสรเพศผู้ 10 อัน ก้านชูอับเรณูสั้นมาก อับเรณูเรียวยาว 2.5–6 มม. ปลายมีรูเปิด 2 รู มี 5 คาร์เพล แต่ละคาร์เพลมีช่องเดียว ก้านเกสรเพศเมียยาว 3–5 มม. ขยายในผล ผลผนังชั้นในแข็ง มี 1–5 ผล ติดบนฐานรองดอกที่ขยาย รูปรี ยาว 0.8–1 มม. สีเทาเขียว สุกสีเทาอมน้ำเงินหรือเกือบดำ มีเมล็ดเดียว
พบที่อินเดีย ศรีลังกา ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ในไทยส่วนมากพบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบแล้งและชายป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 1200 เมตร
สกุลช้างน้าว Gomphia Schreb. อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Ochnoideae มีประมาณ 30 ชนิด ส่วนมากพบในแอฟริกา ในไทยมีเพียงชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “gomphos” เข็มหมุด ตามลักษณะของผลย่อย
|