ไม้ล้มลุก สูง 20–50 ซม. หูใบเป็นแผ่นบาง ยาว 1–2 มม. ปลายจักชายครุย 1–2 อัน ใบเรียงตรงข้าม รูปใบหอกหรือรูปแถบ ยาว 3.5–9 ซม. ปลายแหลมเป็นติ่ง แผ่นใบสาก เส้นแขนงใบเป็นเส้นกลางใบ ไร้ก้าน ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ก้านช่อยาวได้ถึง 12 ซม. แต่ละช่อกระจุกมักมีดอกเดียว ก้านดอกยาว 0.5–3.5 ซม. ใบประดับขนาดเล็ก กลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปสามเหลี่ยมแคบ ยาว 1–2 มม. ติดทน ดอกรูปดอกเข็ม ด้านในสีครีม ด้านนอกสีม่วงอมชมพูหรือน้ำตาล หลอดกลีบยาว 0.7–1.2 ซม. มี 4 กลีบ รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 3.5–5.5 มม. เกสรเพศผู้ 4 อัน ไร้ก้าน อับเรณูรูปเส้นด้าย ยาว 2–2.5 มม. ปลายมีรยางค์ยื่นจรดปากหลอดกลีบ ก้านเกสรเพศเมียยาว 2.5–5 มม. ยอดเกสรแยก 2 แฉก รูปเส้นด้าย ยาว 2–3.5 มม. ผลแห้งแตกกลางพูด้านบน รูปไข่กว้าง กว้าง 3–4 มม. เมล็ดขนาดเล็ก จำนวนมาก
พบที่อินเดีย ปากีสถาน เนปาล ศรีลังกา พม่า และทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของไทยที่ทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ขึ้นบนเขาหินปูนเตี้ย ๆ ความสูงประมาณ 200 เมตร
สกุล Kohautia Cham. & Schltdl. อยู่ภายใต้เผ่า Spermacoceae มี 27 ชนิด ส่วนมากพบในแอฟริกา ในไทยมีชนิดเดียว ต่างจากสกุล Oldenlandia และ Hedyotis ที่ก้านเกสรเพศเมียเป็นแบบสั้นแบบเดียว ไม่ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอกและไม่ยื่นเลยอับเรณู เกสรเพศผู้ติดที่ปากและไม่ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวเช็ก Francis Kohaut
|