สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ชำมะนาด

ชำมะนาด  สกุล
วันที่ 28 กันยายน 2559

Vallaris Burm.f.

Apocynaceae

ไม้เถา น้ำยางขาว กิ่งมีช่องอากาศ ใบเรียงตรงข้าม มีต่อมตามซอกใบ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกจำนวนอย่างละ 5 กลีบ ดอกรูปกรวย กลีบเรียงซ้อนทับกันด้านขวาในตาดอก เกสรเพศผู้ 5 อัน แนบติดปลายเกสรเพศเมีย จุดติดบนหลอดกลีบมีขน ยื่นพ้นปากหลอดกลีบ ก้านชูอับเรณูสั้น ปลายก้านเป็นกระเปาะกลม อับเรณูรูปหัวลูกศร จานฐานดอกจัก 5 พู มี 2 คาร์เพลแยกกัน ปลายเชื่อมติดกันเรียวจรดก้านเกสรเพศเมีย มีขนสั้นนุ่ม ผลแตกแนวเดียวออกเป็นคู่ มักลดรูปมีผลเดียว เมล็ดจำนวนมาก ปลายมีจุกขน

สกุล Vallaris มี 3 ชนิด ในไทยพบเป็นพืชพื้นเมืองชนิดเดียว และเป็นไม้ประดับอีก 1 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษาละติน “vallum” กำแพง ตามลักษณะวิสัยที่เป็นไม้เถาเลื้อยปกคลุมคล้ายเป็นกำแพง


ชำมะนาด
วันที่ 28 กันยายน 2559

Vallaris glabra (L.) Kuntze

Apocynaceae

ไม้เถา ใบรูปรี ยาว 10–17 ซม. ปลายมีติ่งแหลม ก้านใบยาว 0.5–3 ซม. ช่อดอกยาวได้ถึง 10 ซม. แผ่กว้าง ก้านช่อสั้น กลีบเลี้ยงบานออกหรือพับงอกลับ รูปสามเหลี่ยมแคบ ๆ ยาว 4–5.5 มม. ดอกสีขาวอมเหลืองหรือเขียวอ่อน หลอดกลีบดอกยาว 7–9 มม. กลีบรูปไข่ ปลายแหลม ยาวประมาณ 1 ซม. ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม ก้านชูอับเรณูยาว 2–4 มม. ติดด้านประมาณจุดกึ่งกลางหลอดกลีบดอก อับเรณูยาวประมาณ 5 มม. จานฐานดอกมีขนตามปลายจัก ก้านเกสรเพศเมียรวมยอดเกสรยาวประมาณ 6 มม. มีขนสั้นนุ่ม

มีถิ่นกำเนิดในชวา เป็นไม้ประดับทั่วไปในเขตร้อน ดอกมีกลิ่นหอม มักไม่ติดผล

ชื่อพ้อง  Pergularia glabra L.

ชื่อสามัญ  Bread flower

ชื่ออื่น   ชมนาด, ชำมะนาด, ชำมะนาดกลาง (ภาคกลาง); ชำมะนาดฝรั่ง, ดอกข้าวใหม่ (กรุงเทพฯ); อ้มส้าย (ภาคเหนือ)

ชำมะนาด: ใบเรียงตรงข้าม ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง กลีบเลี้ยงบานออกหรือพับงอกลับ กลีบดอกปลายแหลม ปลายก้านชูอับเรณูเป็นกระเปาะ (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

ชำมะนาดเล็ก
วันที่ 28 กันยายน 2559

Vallaris solanacea (Roth) Kuntze

Apocynaceae

ไม้เถา ใบรูปรีถึงรูปใบหอก ยาว 2–15 ซม. ปลายแหลมยาว ก้านใบยาว 0.3–2 ซม. ช่อดอกยาว 3–10 ซม. ก้านช่อยาวประมาณ 3.5 ซม. กลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยม ตั้งตรง ยาว 3–7 มม. ดอกสีขาวอมเหลืองหรือเขียว หลอดกลีบดอกยาว 0.6–1 ซม. กลีบรูปไข่ ปลายกลม ยาว 0.5–1 ซม. ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 2 มม. ติดประมาณใต้จุดกึ่งกลางหลอดกลีบดอก อับเรณูยาวประมาณ 3 มม. โคนเป็นเงี่ยง จานฐานดอกเกลี้ยงหรือมีขนประปราย ก้านเกสรเพศเมียรวมยอดเกสรยาวประมาณ 6 มม. มีขนสั้นนุ่ม ผลเป็นฝักคู่ ยาว 8–14 ซม. กว้าง 1.5–3.5 ซม. เมล็ดรูปรี แบน ๆ ยาวประมาณ 1 ซม. กระจุกขนยาว 3–4 ซม.

พบที่ปากีสถาน อินเดีย พม่า จีน และเวียดนาม ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบแล้ง ความสูงถึงประมาณ 350 เมตร เป็นไม้ประดับ ในอินเดีย เถาใช้สานตะกร้า

ชื่อพ้อง  Peltanthera solanacea Roth

ชื่ออื่น   ชำมะนาดเล็ก (ภาคกลาง); ฟูมฟูม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); หญ้าช้างน้อย, หญ้าช้างย้อย, หางเม่นเครือ (ภาคเหนือ); อุ่มฟูม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)

ชำมะนาดเล็ก: กลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยม ตั้งตรง กลีบดอกปลายกลม (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา, สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)

ชำมะนาดกลาง
วันที่ 28 กันยายน 2559

Vallaris glabra (L.) Kuntze

Apocynaceae

ดูที่ ชำมะนาด

ชำมะนาดฝรั่ง
วันที่ 28 กันยายน 2559

Vallaris glabra (L.) Kuntze

Apocynaceae

ดูที่ ชำมะนาด



เอกสารอ้างอิง

Middleton, D.J. (1999). Apocynaceae. In Flora of Thailand Vol. 7(1): 94–96.