ไม้พุ่ม สูง 1–2 ม. แยกเพศต่างต้น กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยมหรือมีครีบ ใบเรียงเวียน รูปรีถึงแกมรูปขอบขนาน ยาว 1–4 ซม. ปลายมีติ่งหนามสั้น ๆ แผ่นใบบางครั้งมีนวล ช่อดอกออกตามซอกใบ ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อกระจุกสั้น ๆ แยกแขนง มี 8–10 ดอก มักแยกเป็นกลุ่มละ 3 ดอก ก้านช่อเป็นเหลี่ยม ยาวประมาณ 1 ซม. ใบประดับรูปใบหอก ยาวประมาณ 1 มม. ดอกสีเขียว กลีบรวม 3 กลีบ รูปไข่กว้าง ยาว 1–2 มม. มีเส้นกลางกลีบ เกสรเพศผู้ 3 อัน ติดที่โคนกลีบ ก้านชูอับเรณูสั้นมาก เป็นหมันในดอกเพศเมีย ดอกเพศเมียออกเป็นช่อเดี่ยว ๆ มีดอกเดียว ก้านช่อสั้นกว่าช่อเพศผู้เล็กน้อย ก้านดอกยาว 3–4 มม. ใบประดับมี 3 อัน ยาวประมาณกึ่งหนึ่งของกลีบรวม บิดไปมา กลีบรวมยาวเท่า ๆ กับของดอกเพศผู้ ปลายมีติ่งด้านใน ก้านเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรมี 3 แฉก มีต่อมน้ำต้อย รังไข่ใต้วงกลีบ ผลผนังชั้นในแข็ง รูปรี ยาว 5–6 มม. สุกสีแดงอมส้ม
พบทางตอนใต้ของยุโรป แอฟริกา อินเดีย จีน พม่า และเวียดนาม ในไทยพบทางภาคเหนือที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และดอยหัวหมด จังหวัดตาก ขึ้นตามที่โล่งบนเขาหินปูน ความสูง 1000–2000 เมตร ใบใช้ชงแทนใบชาได้
สกุล Osyris L. มีเพียง 2 ชนิด อีกชนิดคือ O. speciosa (A. W. Hill) J. C. Manning & Goldblatt เป็นพืชถิ่นเดียวของแอฟริกาใต้ ชื่อสกุลอาจมาจากภาษากรีก “ozos” กิ่ง ตามลักษณะวิสัยที่แตกกิ่งจำนวนมาก
|