สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ชาฤาษี

ชาฤาษี  สกุล
วันที่ 28 กันยายน 2559

Paraboea (C.B.Clarke) Ridl.

Gesneriaceae

ไม้ล้มลุก โคนต้นมักมีเนื้อไม้ ใบเรียงตรงข้าม เป็นวงรอบข้อ หรือเรียงเวียน ช่อดอกแบบช่อกระจุก กลีบเลี้ยง 5 กลีบ แฉกลึกเกือบจรดโคน ดอกรูประฆัง มี 5 กลีบ คล้ายรูปปากเปิด เกสรเพศผู้ 2 อัน ติดบนหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูที่ไม่แนบติดหลอดกลีบหนา สั้น อับเรณูขนาดใหญ่สีหลือง บางครั้งมีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน รังไข่รูปทรงกระบอก ยอดเกสรส่วนมากเป็นตุ่มขนาดเล็ก ผลแห้งแตกตามยาว บางครั้งบิดเป็นเกลียว เมล็ดขนาดเล็ก จำนวนมาก

สกุล Paraboea เดิมอยู่ภายใต้สกุล Didymocarpus ปัจจุบันได้รวมเอาสกุล Trisepalum และ Phylloboea ไว้ด้วย ทำให้มีจำนวนมากกว่า 130 ชนิด ในไทยอาจมีได้ถึง 80 ชนิด ชื่อสกุลหมายถึงสกุลที่คล้ายกับสกุล Boea


ชาฤาษี
วันที่ 28 กันยายน 2559

Paraboea multiflora (R.Br.) B.L.Burtt

Gesneriaceae

ไม้ล้มลุก บางครั้งมีเหง้า มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดงตามแผ่นใบด้านล่าง และช่อดอก ใบเรียงเป็นกระจุกใกล้โคน รูปรี เบี้ยว ยาว 4–22 ซม. ขอบจักมน ก้านใบยาวได้ถึง 12 ซม. ช่อดอกออกตามซอกใบ ก้านช่อยาว 3.5–22 ซม. ก้านดอกยาว 2–7 มม. กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ รูปไข่ ยาว 1–2.5 มม. ด้านนอกมีขน ดอกสีขาว หลอดกลีบดอกสั้นมาก ดอกบานเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8 มม. กลีบบน 2 กลีบ ขนาดเล็กกว่ากลีบล่าง 3 กลีบ เล็กน้อย ก้านชูอับเรณูสั้นกว่าหรือยาวกว่าอับเรณู เล็กน้อย อับเรณูยาวประมาณ 2 มม. รังไข่มีนวลแป้ง ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 3 มม. ผลรูปทรงกระบอก ยาวได้ถึง 1.2 ซม. บิดเป็นเกลียว มีนวลแป้ง

พบที่อินเดีย พม่า จีนตอนใต้ และลาว ในไทยพบทางภาคเหนือที่เชียงใหม่ลำปาง และภาคกลางที่เขาใหญ่ จังหวัดนครนายก ขึ้นตามริมลำธารในป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณ ความสูงถึงประมาณ 600 เมตร

ชื่อพ้อง  Boea multiflora R.Br.

หมายเหตุ  แยกเป็น var. caulescens Z. R. Xu & B. L. Burtt

ชาฤๅษี: P. multiflora ใบเรียงเป็นกระจุกใกล้โคน ดอกรูประฆัง มี 5 กลีบ คล้ายรูปปากเปิด เกสรเพศผู้ 2 อัน ก้านชูอับเรณูสั้นกว่าหรือยาวกว่าอับเรณู (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

ชาฤาษี
วันที่ 28 กันยายน 2559

Paraboea burttii Z.R.Xu

Gesneriaceae

ไม้ล้มลุก ลำต้นสั้นหรือสูงได้ถึง 15 ซม. มีขนสานเป็นพืดสีน้ำตาลตามแผ่นใบด้านล่าง ช่อดอก และกลีบเลี้ยงด้านนอก ใบเรียงตรงข้ามชิดกัน รูปไข่ ยาว 7–14 ซม. ปลายมน โคนรูปลิ่มหรือเว้าตื้น ๆ ขอบจักซี่ฟันเล็กน้อย แผ่นใบด้านบนมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น ก้านใบยาว 4–10 ซม. ช่อดอกคล้ายช่อซี่ร่ม ออกตามซอกใบ ก้านช่อยาวเท่า ๆ ก้านใบ ใบประดับรูปกลม ๆ ยาวประมาณ 1.2 ซม. ดอกจำนวนมาก ก้านดอกยาว 1–1.5 ซม. กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ รูปไข่ ยาวประมาณ 6 มม. ดอกสีขาวอมม่วง หลอดกลีบยาวประมาณ 4 มม. ดอกบานเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.6 ซม. กลีบบน 2 กลีบ รูปไข่กว้าง ยาวประมาณ 6 มม. กลีบล่าง 3 กลีบ รูปไข่ กลีบคู่ข้างกว้างและยาวกว่ากลีบกลางเล็กน้อย ยาว ประมาณ 8 มม. อับเรณูรูปรีกว้าง ยาวประมาณ 2.5 มม. เชื่อมติดกัน รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 7 มม. ผลรูปแถบ ยาว 3–4 ซม. ไม่บิดเป็นเกลียว

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคใต้ที่นครศรีธรรมราช ตรัง และพัทลุง ขึ้นตามเขาหินปูนในป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 400 เมตร

ชื่ออื่น   ชาฤาษี, พรหมมาสตร์ (ทั่วไป)

ชาฤๅษี: P. burttii ช่อดอกคล้ายช่อซี่ร่ม ออกตามซอกใบ ก้านช่อยาว ดอกสีขาวอมม่วง ผลรูปแถบ ไม่บิดเป็นเกลียว (ภาพ: David Middleton)

ชาฤาษีเคราขาว
วันที่ 28 กันยายน 2559

Paraboea amplifolia Z.R.Xu & B.L.Burtt

Gesneriaceae

ไม้ล้มลุก มีขนคล้ายใยแมงมุมหนาแน่นตามส่วนต่าง ๆ ใบเรียงเวียนที่โคน รูปรี รูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่ ยาว 5–28 ซม. ปลายแหลม โคนสอบเรียวจรดก้านใบเป็นครีบ ขอบเรียบหรือจักซี่ฟันเล็กน้อย แผ่นใบด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม ก้านใบยาว 2–10 ซม. ช่อดอกแยกประมาณ 2–3 แขนง ออกตามซอกใบ ก้านช่อยาว 5–12 ซม. ก้านดอกยาวประมาณ 8 มม. กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ รูปแถบ ยาวประมาณ 5 มม. มีขนสั้นนุ่ม ดอกสีขาว หลอดกลีบดอกสั้น ดอกบานเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. กลีบบน 2 กลีบ ขนาดเท่า ๆ กลีบล่าง 3 กลีบ รูปไข่กว้าง ยาว 4–5 มม. อับเรณูยาวประมาณ 3.5 มม. เชื่อมติดกัน รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียยาวกว่าเกสรเพศผู้ ผลรูปไข่แคบ ยาวประมาณ 5 มม. ไม่บิดเป็นเกลียว

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคใต้ที่ทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ขึ้นตามหน้าถ้ำที่เป็นหินปูน ความสูงประมาณ 150 เมตร

ชาฤๅษีเคราขาว: มีขนคล้ายใยแมงมุมหนาแน่นตามส่วนต่าง ๆ ใบเรียงเวียนที่โคน โคนสอบเรียวจรดก้านใบเป็นครีบ กลีบบน 2 กลีบ ขนาดเท่า ๆ กลีบล่าง 3 กลีบ (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

ชาฤาษีโลหะโมลี
วันที่ 28 กันยายน 2559

Paraboea glabrisepala B.L.Burtt

Gesneriaceae

ไม้ล้มลุก มีขนสานเป็นแถบสีน้ำตาลอ่อนตามแผ่นใบด้านล่าง ก้านใบ และก้านช่อดอกอ่อน ใบเรียงเป็นกระจุกที่โคน รูปรี ยาว 10–21 ซม. ปลายมนหรือกลม โคนรูปลิ่มถึงเว้าตื้น ขอบจักมน ก้านใบยาว 10–19 ซม. ช่อดอกออกตามซอกใบ ก้านช่อยาว 20–40 ซม. ใบประดับ 2 ใบ รูปไข่กว้าง กว้างประมาณ 2 ซม. ยาวประมาณ 1.5 ซม. ช่อแขนงย่อยยาว 1–4 ซม. ใบประดับขนาดเล็กกว่า ดอกจำนวนมาก ก้านดอกยาวประมาณ 5 มม. กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ขนาดเล็ก รูปกลม ๆ ยาวประมาณ 1 มม. เกลี้ยง ดอกสีม่วงอ่อน หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 5 มม. ดอกบานเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8 มม. กลีบบน 2 กลีบ ขนาดเล็กกว่ากลีบล่าง 3 กลีบ เล็กน้อย ก้านชูอับเรณูยาวกว่าอับเรณู อับเรณูยาวประมาณ 2 มม. ปลายเชื่อมติดกัน เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันมี 3 อัน ขนาดเล็ก รังไข่เกลี้ยง ผลรูปแถบ ยาวประมาณ 4 ซม. บิดเป็นเกลียว

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคเหนือที่แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่ ขึ้นตามเขาหินปูนในป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ความสูง 700–1000 เมตร

ชาฤๅษีโลหะโมลี: มีขนสานเป็นพืดสีน้ำตาลอ่อนตามแผ่นใบด้านล่าง ก้านใบ และก้านช่อดอกอ่อน ก้านช่อดอกยาว ใบประดับ 2 ใบ ผลบิดเป็นเกลียว (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)



เอกสารอ้างอิง

Puglisi, C., D.J. Middleton, P. Triboun and M. Möller. (2011). New insights into the relationships between Paraboea, Trisepalum and Phylloboea (Gesneriaceae) and their taxonomic consequences. Taxon 60: 1693–1702.

Xu, Z., B.L. Burtt, L.E. Skog and D.J. Middleton. (2008). A revision of Paraboea (Gesneriaceae). Edinburgh Journal of Botany 65: 161–347.