สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ชะมด

ชะมด
วันที่ 28 กันยายน 2559

Hibiscus surattensis L.

Malvaceae

ไม้ล้มลุก มีขนและหนามกระจาย หูใบคล้ายใบ เป็นติ่ง ยาว 0.5–1.5 ซม. ขอบมีขนครุย ใบรูปฝ่ามือ 3–5 พู ยาว 4–10 ซม. ขอบจักซี่ฟันห่าง ๆ แผ่นใบมีขนทั้งสองด้าน เส้นโคนใบ 5 เส้น ก้านใบยาว 2–7 ซม. ดอกออกเดี่ยว ๆ ตามซอกใบ ก้านดอกยาว 1–9 ซม. ริ้วประดับ 10 อัน โคนเรียวแคบคล้ายเป็นก้าน ยาว 5–7 มม. ริ้วด้านในตั้งขึ้นรูปแถบ ยาว 1–2 ซม. ด้านนอกเป็นรยางค์รูปรี ยาว 0.7–1 ซม. กลีบเลี้ยงรูปไข่แกมรูปใบหอก ยาวได้ถึง 2.5 ซม. ดอกสีเหลือง โคนกลีบด้านในสีแดงเข้ม กลีบรูปไข่กลับ ปลายกลม ยาว 3–5 ซม. เส้าเกสรสั้นกว่ากลีบดอก อับเรณูสีเหลืองติดตลอดความยาว ก้านชูอับเรณูสั้น รังไข่ 5 ช่อง มีช่องเทียมอีก 5 ช่อง ผลรูปไข่ ยาวประมาณ 1.5 ซม. ปลายมีจะงอย (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ ชบา, สกุล)

พบที่แอฟริกา ภูฏาน อินเดีย จีนตอนใต้ ฮ่องกง พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย และออสเตรเลีย ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามชายป่าหรือที่รกร้าง ส่วนต่าง ๆ มีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่าง

ชื่ออื่น   กระทงหมาบ้า (ประจวบคีรีขันธ์); เก็งเค็งป่า (ภาคเหนือ); ชะมด (ภาคกลาง); พายป่า (ภาคเหนือ); มะดาดดอย (เงี้ยว); ส้มกบ (กาญจนบุรี, ราชบุรี); ส้มฉิงเคลง (สุราษฎร์ธานี); ส้มปูป่า (แม่ฮ่องสอน); เส็งเคร็ง (สตูล)

ชะมด: ส่วนต่าง ๆ มีขนและหนามกระจาย ริ้วประดับ 10 อัน โคนเรียวแคบ ริ้วด้านในตั้งขึ้นรูปแถบ ด้านนอกเป็นรยางค์รูปรี (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Tang, Y., M.G. Gilbert and L.J. Dorr. (2007). Malvaceae. In Flora of China Vol. 12: 239.