ไม้ล้มลุก แตกกิ่งหนาแน่น ใบเรียงเวียน อวบน้ำ ส่วนมากสีแดงและมีนวล รูปทรงกระบอกแคบ ๆ โค้งเล็กน้อย ยาว 2–5 มม. ปลายเรียวแหลม ไร้ก้าน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ยาวได้ถึง 15 ซม. ดอกออกเป็นกระจุก 3–5 ดอก เรียงตามแกนช่อ บางครั้งเป็นดอกเพศเมีย ใบประดับคล้ายใบ ลดรูปช่วงปลายช่อ ใบประดับย่อยขนาดเล็ก 2–3 อัน ติดทน ดอกสีเขียวหรือสีแดง กลีบรวมมี 5 กลีบ ยาวประมาณ 2 มม. เกสรเพศผู้ 5 อัน รังไข่มีช่องเดียว ก้านเกสรเพศเมียแยก 2–3 อัน ยื่นเลยกลีบรวมเล็กน้อย ผลสด มีกลีบรวมหุ้ม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 มม. มีเมล็ดเดียว สีน้ำตาล เป็นมันวาว
พบในอเมริกา แอฟริกา ยุโรป และเอเชีย ในไทยพบทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคกลาง และภาคใต้ ขึ้นตามชายป่าโกงกาง ที่รกร้างรอบ ๆ นาเกลือ รับประทานเป็นผักสดหรือปรุงสุก
สกุล Suaeda Forssk. ex J. F. Gmel. เดิมอยู่ภายใต้วงศ์ Chenopodiaceae มีประมาณ 100 ชนิด เป็นพืชที่พบตามดินเค็มทั้งในอเมริกา แอฟริกา ยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษาอาหรับ “suivada” หรือ “sauda” เกลือ ตามถิ่นที่อยู่ที่ชอบดินเค็ม
|