สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ชมพูพาน

ชมพูพาน
วันที่ 28 กันยายน 2559

Wightia speciosissima (D.Don) Merr.

Paulowniaceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น อิงอาศัย สูงได้ถึง 15 ม. มีเกล็ดและขนรูปดาวหนาแน่นตามแผ่นใบด้านล่าง ช่อดอก กลีบเลี้ยงและกลีบดอกด้านนอก ใบเรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 10–30 ซม. แผ่นใบหนา ก้านใบยาวได้ถึง 2 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงสั้น ๆ ยาว 10–20 ซม. ก้านช่อและก้านดอกสั้น ใบประดับย่อยขนาดเล็ก 2 อัน กลีบเลี้ยงรูประฆัง ยาวประมาณ 8 มม. ปลายแยก 3–4 แฉกตื้น ๆ ดอกสีชมพู ยาว 2.5–3.5 ซม. กลีบรูปปากเปิด หลอดกลีบดอกสั้น กลีบปากบนยาวประมาณ 8 มม. แยก 2 แฉก กลีบปากล่าง 3 กลีบ ยาว 6–7 มม. เกสรเพศผู้ 2 คู่ยาวไม่เท่ากัน อับเรณูรูปลูกศร ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก รังไข่มี 2 ช่อง มีริ้ว ก้านเกสรเพศเมียสั้นกว่าเกสรเพศผู้เล็กน้อย ผลแห้งแตกกลางพู รูปขอบขนาน ยาว 2.5–4 ซม. เมล็ดจำนวนมาก รูปแถบ ยาวประมาณ 7 มม. มีปีกบาง แคบ ๆ

พบที่เนปาล อินเดีย จีนตอนใต้ พม่า และภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามคบไม้ หรือก้อนหิน ในป่าดิบเขา ความสูง 1300–2000 เมตร

สกุล Wightia เดิมอยู่ภายใต้วงศ์ Scrophulariaceae มีเพียง 2 ชนิด อีกชนิดคือ ศรีฮาลา W. borneensis Hook.f. พบทางภาคใต้ตอนล่าง และภูมิภาคมาเลเซีย ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวบริติช Robert Wight (1796–1872)

ชื่อพ้อง  Gmelina speciosissima D.Don

ชื่ออื่น   ชมพูพาน (เชียงใหม่); ตุมกาแดง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)

ชมพูพาน: ใบเรียงตรงข้าม ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงสั้น ๆ กลีบดอกรูปปากเปิด (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Hong, D., H. Yang, C.L. Jin, M.A. Fischer, N.H. Holmgren and R.R. Mill. (1998). Scrophulariaceae. In Flora of China Vol. 18: 10–11.

Yamazaki, T. (1990). Scrophulariaceae. In Flora of Thailand Vol. 5(2): 142–143.