สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ชมพูกาหลง

ชมพูกาหลง
วันที่ 28 กันยายน 2559

Scaphochlamys biloba (Ridl.) Holttum

Zingiberaceae

ไม้ล้มลุก เหง้าทอดเลื้อย เส้นผ่านศูนย์กลาง 3–4 มม. แทงยอดห่าง ๆ มี 1–2 ใบ กาบใบยาว 2–5 ซม. ลิ้นกาบขนาดเล็ก ก้านใบสั้น หรือยาวได้ถึง 20 ซม. ใบรูปรีถึงรูปใบหอก ขนาดเล็ก หรือยาว 15–25 ซม. ช่อดอกออกที่โคน รูปรี ยาวได้ถึง 4 ซม. ใบประดับเรียงเวียนซ้อนกัน สีน้ำตาล ยาว 1.5–2 ซม. ใบประดับย่อยสั้นหรือยาวกว่าใบประดับเล็กน้อย ในแต่ละใบประดับมีดอกเดียว ใบประดับย่อยมีอันเดียว หลอดกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 1.3 ซม. ปลายจัก 3 พูตื้น ๆ แฉกด้านเดียวประมาณ 5 มม. ดอกสีขาว มีต่อมขนเล็ก ๆ กระจาย หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 3 ซม. กลีบล่างรูปแถบ ยาวประมาณ 1.7 ซม. กลีบคู่ข้างสั้นกว่าเล็กน้อย แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันด้านข้างรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1.5 ซม. กลีบปากรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 2 ซม. ปลายแฉกประมาณกึ่งหนึ่ง กลางกลีบมีปื้นสีเหลืองอ่อนหรือสีชมพู เกสรเพศผู้ยาวประมาณ 8 มม. สันอับเรณูไม่ชัดเจน

พบที่คาบสมุทรมลายู และทางภาคใต้ตอนล่างของไทยที่ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ขึ้นตามป่าดิบชื้น ความสูงระดับต่ำ ๆ

สกุล Scaphochlamys Baker มีมากกว่า 30 ชนิด พบที่คาบสมุทรมลายู บอร์เนียว และภาคใต้ตอนล่างของไทย ในไทยมี 4–7 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “skaphe” หรือ “skapho” เรือ และ “chlamys” ใบประดับ หมายถึงใบประดับที่รูปร่างคล้ายเรือ

ชื่อพ้อง  Gastrochilus biloba Ridl., Scaphochlamys longifolia Holttum, S. biloba (Ridl.) Holttum var. lanceolata (Ridl.) Holttum

ชมพูกาหลง: ไม้ล้มลุกมี 1–2 ใบ ช่อดอกออกที่โคน กลีบปากรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 2 ซม. ปลายแฉกประมาณกึ่งหนึ่ง กลางกลีบมีปื้นสีเหลืองอ่อนหรือสีชมพู (ภาพ: มานพ ผู้พัฒน์)



เอกสารอ้างอิง

Larsen, K. and S.S. Larsen. (2006). Gingers of Thailand. Queen Sirikit Botanic Garden. Chiang Mai.

Searle, R.J. (2010). The genus Scaphochlamys (Zingiberaceae-Zingibereae): a compendium for the field worker. Edinburgh Jounal of Botany 67(1): 75–121.