สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ชบา

ชบา
วันที่ 31 ตุลาคม 2559

Alstonia scholaris (L.) R.Br.

Apocynaceae

ดูที่ ตีนเป็ด

ชบาหนู
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559

Decaschistia parviflora Kurz

Malvaceae

ดูที่ ทองพันดุล

ชบา  สกุล
วันที่ 13 กันยายน 2559

Hibiscus L.

Malvaceae

ไม้ล้มลุก ไม้พุ่ม หรือไม้ต้น พบน้อยที่เป็นไม้เถา มีหูใบ ใบเรียงเวียน ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือแยกแขนง บางครั้งมีดอกเดียว ดอกสมบูรณ์เพศ ก้านดอกส่วนมากเป็นข้อ ริ้วประดับมี 5 อัน หรือหลายอัน ติดทน กลีบเลี้ยงรูประฆัง มี 5 กลีบ ติดทน กลีบดอกมี 5 กลีบ บางครั้งดอกซ้อน ติดที่โคนเส้าเกสรเพศผู้ที่ส่วนมากสั้นกว่ากลีบดอก อับเรณูกระจายตลอดความยาวเส้าเกสรหรือเฉพาะช่วงบน รังไข่ 5 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียแยกเป็น 5 แฉก ยอดเกสรเป็นตุ่ม ผลแห้งส่วนมากแตกเป็น 5 ซีก หรือคล้ายมี 10 ซีก เมล็ดรูปไต มีขนหรือตุ่ม

สกุล Hibiscus อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Malvoideae มีมากกว่า 200 ชนิด พบในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน ในไทยมีประมาณ 15 ชนิด และมีที่นำเข้ามาเป็นไม้ประดับอีกหลายชนิด ชื่อสกุลเป็นภาษาละติน ที่ใช้เรียกพืชชนิด Althaea officinalis L. ในยุโรป หมายถึงพืชสกุลชบามีลักษณะกิ่งเหนียวใช้ทำเชือกได้เช่นเดียวกัน


ชบา
วันที่ 13 กันยายน 2559

Hibiscus rosa-sinensis L.

Malvaceae

ไม้พุ่ม สูง 1–3 ม. มีขนรูปดาวกระจายตามกิ่ง เส้นแขนงใบด้านล่าง ก้านดอก ริ้วประดับ กลีบเลี้ยง และหูใบ หูใบรูปเส้นด้าย ยาว 0.5–1.2 ซม. ใบรูปไข่ ยาว 4–9 ซม. ขอบจักซี่ฟันหรือจักเป็นพู เส้นโคนใบข้างละ 1 เส้น ก้านใบยาว 0.5–2 ซม. ดอกออกเดี่ยว ๆ ตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ก้านดอกยาว 3–7 ซม. ปลายก้านมีข้อ ริ้วประดับ 6–7 อัน รูปเส้นด้าย เชื่อมติดกันที่โคน ยาว 0.8–1.5 ซม. กลีบเลี้ยงรูปไข่หรือแกมรูปใบหอก ยาวประมาณ 2 ซม. ติดทน ดอกรูปแตร สีแดงหรือส้มอมเหลือง ดอกบานเส้นผ่านศูนย์กลาง 6–10 ซม. แผ่นกลีบรูปไข่กลับ มีขนยาวด้านนอก เส้าเกสรยาว 4–8 ซม. เกลี้ยง อับเรณูกระจายเฉพาะช่วงบน ผลรูปไข่ ยาวประมาณ 2.5 ซม. ปลายเป็นจะงอย

มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน เป็นดอกไม้ประจำชาติมาเลเซีย มีการปรับปรุงพันธุ์และผสมข้ามพันธุ์ทำให้มีหลากสี หรือใบด่าง ต้นที่ดอกซ้อนถูกจำแนกเป็น var. rubroplenus Sweet มีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่าง

ชื่อสามัญ  Checkered Hibiscus, China rose, Shoe flower

ชื่ออื่น   ชบา (ภาคกลาง); ชบาขาว, ชุมบา (ปัตตานี); บา (ภาคใต้); ใหม่, ใหม่แดง (ภาคเหนือ)

ชบา: ขอบใบจักซี่ฟัน อับเรณูกระจายเฉพาะช่วงบน มีทั้งต้นใบด่าง และกลีบดอกซ้อน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

ชบาขาว
วันที่ 13 กันยายน 2559

Hibiscus rosa-sinensis L.

Malvaceae

ดูที่ ชบา

ชบาจิ๋ว
วันที่ 13 กันยายน 2559

Hibiscus hirtus L.

Malvaceae

ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 2 ม. กิ่งมีขนรูปดาวกระจาย มีขนยาวตามก้านใบ ก้านดอก ริ้วประดับ และกลีบเลี้ยง หูใบรูปเส้นด้าย ยาวประมาณ 1 ซม. ใบรูปไข่ เรียบหรือจัก 3 พูตื้น ๆ ยาว 3–8 ซม. ปลายแหลมยาว โคนเส้นใบด้านล่างมีต่อมขนาดใหญ่ ขอบจักซี่ฟัน ปลายจักมีขนยาว ก้านใบยาวได้ถึง 5 ซม. ช่อดอกมีดอกเดียว ก้านดอกยาว 2–5 ซม. ริ้วประดับ 5–7 อัน รูปลิ่มแคบ ยาวประมาณ 5 มม. กลีบเลี้ยงรูปใบหอก ยาวประมาณ 1 ซม. ดอกสีชมพูอมส้มหรือขาว กลีบรูปรี ยาว 1.5–1.8 ซม. เส้าเกสรสั้นกว่ากลีบดอก เกสรเพศผู้เรียงเวียนตลอดความยาว ก้านเกสรเพศเมียแยก 5 แฉก ยาว 7–8 มม. ผลรูปกลม สั้นกว่ากลีบเลี้ยง มี 12–15 เมล็ด มีปุยคล้ายฝ้าย

มีถิ่นกำเนิดในอินเดียและชวา ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปในเขตร้อน

ชื่อสามัญ  Lesser mallow

ชบาจิ๋ว: ขอบใบจักซี่ฟันลึก มีขนยาวตามปลายจัก ก้านดอก และกลีบเลี้ยง ช่อดอกมีดอกเดียว ก้านเกสรเพศเมียแยก 5 แฉก ยอดเกสรเป็นตุ่ม (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Master, T.M. (1874). Malvaceae. In Flora of British India Vol. 1: 335.

Tang, Y., M.G. Gilbert and L.J. Dorr. (2007). Malvaceae. In Flora of China Vol. 12: 289.