ปาล์มแตกกอ แยกเพศร่วมต้น ใบแบบขนนก เรียงเวียน 4–7 ใบ แกนกลางยาว 6–7 ม. ก้านใบและกาบยาว 1.3–1.8 ม. ใบย่อยมีข้างละ 70–80 ใบ เรียงสลับ รูปแถบ ยาว 100–120 ซม. โคนตัด กาบหนาแข็งคล้ายเนื้อไม้ ด้านบนเป็นร่อง ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ยาว 1–1.7 ม. ก้านช่อหนา ยาว 60–90 ซม. ใบประดับคล้ายกาบ ยาว 30–40 ซม. ก้านยาว 20–30 ซม. ช่อดอกย่อยแบบช่อเชิงลด ยาว 7–12 ซม. ช่อดอกเพศผู้มี 5–8 ช่อ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกจำนวนอย่างละ 3 กลีบ รูปแถบ ยาวประมาณ 2 มม. เกสรเพศผู้ 3 อัน ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกัน ยาว 4–5 มม. ช่อดอกเพศเมียมีช่อเดียว ทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 6–8 ซม. ดอกบานหลังดอกเพศผู้ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกยาว 3–4 มม. ยอดเกสรเพศเมียติดทน ผลติดเป็นกลุ่มอัดแน่น ผลย่อยรูปไข่กลับ ยาว 8–11 ซม. เป็นเหลี่ยมและมีสัน เปลือกหนามีเส้นใยเหนียว เนื้อในกะลาสีขาวใส
พบที่อินเดีย ศรีลังกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลียตอนบน และหมู่เกาะแปซิฟิก พบตามชายคลองใกล้ชายฝั่งทะเล ป่าชายเลน ใบอ่อนตากแห้งใช้มวนยาสูบ ห่อขนม ทำที่ตักน้ำ หมาจาก ใบแก่ใช้มุงหลังคา เนื้อในเมล็ดกินได้
สกุล Nypa Steck มีชนิดเดียว และเพียงสกุลเดียวภายใต้วงศ์ย่อย Nypoideae ชื่อสกุลเป็นภาษามาเลย์ “nipah” ที่เรียกพืชชนิดนี้
|