สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

จอกบ่วาย

จอกบ่วาย
วันที่ 26 สิงหาคม 2559

Drosera burmanni Vahl

Droseraceae

พืชล้มลุกกินแมลง ลำต้นสั้นมาก หูใบขนาดเล็ก มี 3–6 แฉก ใบออกเป็นกระจุกแบบกุหลาบซ้อนที่โคนแนบชิดติดดินเป็นวง เส้นผ่านศูนย์กลาง 1–3 ซม. ใบบนต้นรูปไข่กลับ ยาว 0.6–1.5 ซม. โคนเรียวแคบ ปลายจักชายครุย มีขนต่อมทั่วไป ช่อดอกแบบช่อกระจะ 1–3 ช่อ ออกที่ยอด ก้านช่อโดดยาว 7–20 ซม. แกนช่อยาว 2–9 ซม. มีได้ถึง 20 ดอก ใบประดับรูปเงี่ยงใบหอก ยาว 1–3 มม. ก้านดอกยาวได้ถึง 7 มม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปขอบขนาน ยาว 2–3 มม. ติดทน มีตุ่มกระจาย ดอกสีขาว ชมพู หรือแดงอมม่วง มี 5 กลีบ รูปไข่กลับ ยาว 4–5 มม. เกสรเพศผู้ 5 อัน ยาว 2–3 มม. เกสรเพศเมีย 5 อัน ยาว 2–3 มม. ติดทน ผลยาว 1–2 มม. (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ หญ้าน้ำค้าง, สกุล)

พบที่อินเดีย ศรีลังกา จีน พม่า ไต้หวัน ญี่ปุ่น ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ออสเตรเลีย ขึ้นตามที่โล่งที่ดินที่ไม่สมบูรณ์ ความสูงถึงประมาณ 1400 เมตร

ชื่อสามัญ  Burmese sundew

จอกบ่วาย: ใบออกเป็นกระจุกแบบกุหลาบซ้อน ออกหนาแน่นที่โคน โคนเรียวแคบ ปลายจักชายครุย มีขนต่อมทั่วไป ช่อดอกแบบช่อกระจะ กลีบดอกรูปไข่กลับ 5 กลีบ (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)



เอกสารอ้างอิง

Larsen, K. (1987). Droseraceae. In Flora of Thailand Vol. 2(1): 67–69.

Lu, L. and K. Kondo. (2001). Droseraceae. In Flora of China Vol. 8: 199.