สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

งิ้ว

งิ้ว  สกุล
วันที่ 26 สิงหาคม 2559

Bombax L.

Malvaceae

ไม้ต้น ผลัดใบ ลำต้นส่วนมากมีหนาม หูใบขนาดเล็ก ร่วงเร็ว ใบประกอบรูปนิ้วมือมี 5–9 ใบ เรียงเวียน ดอกออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นกระจุกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ดอกออกก่อนผลิใบใหม่ กลีบเลี้ยงหนา เชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 3–5 กลีบ กลีบดอก 5 กลีบ เกสรเพศผู้จำนวนมากเชื่อมติดกันเป็นมัด ๆ 5–10 มัด ติดระหว่างกลีบดอก รังไข่มี 5 ช่อง ออวุลจำนวนมาก ก้านเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ยาวกว่าเกสรเพศผู้เล็กน้อย ยอดเกสรแยกเป็น 5 แฉก ผลแห้งแตก เรียบหรือมี 5 สัน แตกเป็น 5 ซีก เมล็ดจำนวนมาก มีปุยนุ่นหุ้ม

สกุล Bombax L. เคยอยู่ภายใต้วงศ์ Bombacaceae ปัจจุบันอยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Bombacoideae มีประมาณ 50 ชนิด ส่วนใหญ่พบในอเมริกาและแอฟริกาเขตร้อน ในไทยมี 3 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “bombyx” เส้นไหม ตามลักษณะปุยนุ่นคล้ายเส้นไหมที่หุ้มเมล็ด


งิ้ว
วันที่ 26 สิงหาคม 2559

Bombax ceiba L.

Malvaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 30 ม. ใบรูปฝ่ามือ มีใบย่อย 5–7 ใบ ก้านใบยาว 10–20 ซม. รูปขอบขนานถึงรูปใบหอก ขนาดไม่เท่ากัน ยาว 8–15 ซม. ก้านใบย่อยสั้น หรือยาวได้ถึง 4 ซม. ก้านดอกยาว 0.5–1 ซม. กลีบเลี้ยงรูปถ้วย ยาว 2–3 ซม. ด้านนอกมีขนคล้ายไหม กลีบ 3–5 กลีบ รูปรีกว้าง ยาวประมาณ 1.5 ซม. ดอกสีแดงอมส้มหรือเหลือง กลีบรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ยาว 5–10 ซม. แผ่นกลีบค่อนข้างหนา มีขนรูปดาวละเอียดทั้งสองด้าน เกสรเพศผู้ยาว 3.5–7 ซม. เรียง 2 วง วงนอก 5 มัด วงใน 5 มัด ก้านเกสรเพศเมียยาว 8–8.5 ซม. ผลรูปรีถึงรูปขอบขนาน ยาว 8–15 ซม. มีขนรูปดาวกระจาย

อาจมีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเขตร้อนหรือในเอเชียจนถึงออสเตรเลียตอนบน ในไทยพบมากตามท้องไร่ท้องนาทุกภาค หรือปลูกเป็นไม้เศรษฐกิจ ทุกส่วนมีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่าง

ชื่อสามัญ  Cotton tree, Kapok tree

ชื่ออื่น   งิ้ว (ทั่วไป); งิ้วแดง (กาญจนบุรี); งิ้วบ้าน (ทั่วไป); งิ้วปง, งิ้วปงแดง, สะเน้มระกา (ชอง-จันทบุรี)

งิ้ว: ดอกสีแดง กลีบเลี้ยงรูปถ้วย เกสรเพศผู้เรียง 2 วง วงนอก 5 มัด วงใน 5 มัด ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น 5 แฉก (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

งิ้วแดง
วันที่ 26 สิงหาคม 2559

Bombax ceiba L.

Malvaceae

ดูที่ งิ้ว

งิ้วชมพู
วันที่ 3 มกราคม 2561

Ceiba speciosa (A.St.-Hil.) Ravenna

Malvaceae

ดูที่ ไหมจุรี

งิ้วดอกขาว
วันที่ 26 สิงหาคม 2559

Bombax anceps Pierre

Malvaceae

ดูที่ งิ้วป่า

งิ้วบ้าน
วันที่ 26 สิงหาคม 2559

Bombax ceiba L.

Malvaceae

ดูที่ งิ้ว

งิ้วปง
วันที่ 26 สิงหาคม 2559

Bombax ceiba L.

Malvaceae

ดูที่ งิ้ว

งิ้วปงแดง
วันที่ 26 สิงหาคม 2559

Bombax ceiba L.

Malvaceae

ดูที่ งิ้ว

งิ้วป่า
วันที่ 26 สิงหาคม 2559

Bombax anceps Pierre

Malvaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 30 ม. มีขนสั้นนุ่มตามกิ่ง กลีบเลี้ยง และกลีบดอก ใบรูปฝ่ามือ มีใบย่อย 5–7 ใบ ก้านใบยาว 10–30 ซม. มีริ้วเป็นสัน ใบรูปรี รูปไข่กลับ หรือรูปขอบขนาน ขนาดไม่เท่ากัน ยาว 8–28 ซม. แผ่นใบด้านล่างเกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่ม ก้านใบย่อยยาว 1–1.5 ซม. ก้านดอกยาว 1–3.5 ซม. กลีบเลี้ยงรูประฆังแคบ ยาว 3–5 ซม. ปลายจักตื้น ๆ 3–5 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน ดอกสีขาวครีมอมเขียว หรือชมพูอ่อน รูปไข่กลับหรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 4–7 ซม. เกสรเพศผู้ยาว 6–7 ซม. มี 5 มัด เชื่อมติดกันประมาณ 1.5 ซม. ผลรูปขอบขนาน โค้งเล็กน้อย ยาว 10–18 ซม. มีสันตื้น ๆ 5 สัน

พบที่จีนตอนใต้ พม่า กัมพูชา ในไทยพบแทบทุกภาคยกเว้นภาคใต้ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง โดยเฉพาะบนเขาหินปูน ความสูงถึงประมาณ 1000 เมตร

ชื่ออื่น   เก๊ย (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ไก๊ (กะเหรี่ยง-ภาคเหนือ); ไกร่ (เชียงใหม่); ง้าว, ง้าวป่า (ภาคกลาง); งิ้วดอกขาว (ภาคเหนือ); งิ้วป่า (ประจวบคีรีขันธ์, ภาคใต้); งิ้วป่าดอกขาว, งิ้วผา (ภาคเหนือ); นุ่นป่า (ภาคกลาง)

งิ้วป่า: ดอกออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง ดอกสีครีมอมเขียว กลีบเลี้ยงรูประฆังแคบ มีขนสั้นนุ่ม (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล, ราชันย์ ภู่มา)

งิ้วป่าดอกขาว
วันที่ 26 สิงหาคม 2559

Bombax anceps Pierre

Malvaceae

ดูที่ งิ้วป่า

งิ้วผา
วันที่ 26 สิงหาคม 2559

Bombax anceps Pierre

Malvaceae

ดูที่ งิ้วป่า



เอกสารอ้างอิง

Phengklai, C. (2005). Bombacaceae. In Flora of Thailand Vol. 9(1): 10–15.

Tang, Y., M.G. Gilbert and L.J. Dorr. (2007). Bombacaceae. In Flora of China Vol. 12: 300–301.