ไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง 15 ม. หูใบรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาว 0.5–1.3 ซม. ใบรูปรีหรือรูปไข่ ยาว 4–22 ซม. ปลายเรียวแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนกลม ก้านใบยาว 1.5–5 ซม. แผ่นใบด้านล่างมีขนและต่อมเกล็ดหนาแน่น เส้นโคนใบข้างละ 1 เส้น ช่อดอกออกเดี่ยว ๆ ตามซอกใบ หรือหลายช่อตามปลายกิ่ง ยาวได้ถึง 20 ซม. ไม่มีกลีบดอก ดอกเพศผู้สีเขียว เส้นผ่านศูนย์กลาง 2–3 มม. กลีบเลี้ยง 2–4 กลีบ เกสรเพศผู้ 15–20 อัน ดอกเพศเมียสีเหลืองหรือแดง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 มม. กลีบเลี้ยง 3–6 กลีบ ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสร 3 อัน ยาว 3–5 มม. ติดทน มีขนยาวนุ่ม ผลรูปรีกว้าง จักเป็นพู ยาว 0.8–1.2 ซม. มีต่อมและขนสีน้ำตาลแดงกระจาย มี 1–3 เมล็ด (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ ตองเต้า, สกุล)
พบที่ศรีลังกา อินเดีย จีนตอนใต้ ไต้หวัน พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา หรือตามชายฝั่งทะเล ความสูงถึงประมาณ 1200 เมตร ผลใช้ทำเป็นสีย้อมให้สีแดงเรียกว่า kamela dye ส่วนต่าง ๆ มีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่าง
|
ชื่อพ้อง Croton philippensis Lam.
|
|
ชื่อสามัญ Monkey-faced tree
|
ชื่ออื่น กายขัดหิน (เชียงใหม่); กือบอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่อวสอน); ขางปอย (นครพนม); ขี้เต่า (สุราษฎร์ธานี); ขี้เนื้อ (เชียงใหม่); คำแดง, คำแสด (ภาคกลาง); ชาตรีขาว (ภูเก็ต); ซาดป่า (นครพนม); ซาบอเส่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ทองขาว (เลย); ทองทวย, แทงทวย (ภาคกลาง); พลับพลาขี้เต่า (นครศรีธรรมราช); พลากวางใบใหญ่ (ตรัง); มะกายคัด (ภาคเหนือ); มะคาย (ภาคกลาง); มินยะมายา (มาเลย์-ยะลา); มือราแก้ปูเต๊ะ (มาเลย์-นราธิวาส); ลายตัวผู้ (จันทบุรี); สากกะเบือละว้า (พิษณุโลก); แสด (ภาคกลาง)
|
|
คำแสด: ช่อดอกแบบช่อกระจะหลายช่อตามปลายกิ่ง ดอกเพศผู้สีเขียว ดอกเพศเมียสีเหลืองหรือแดง ยอดเกสรเพศเมียติดทน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา, วรดลต์ แจ่มจำรูญ, ปรีชา การะเกตุ)
|
|