สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ขี้ครอก

ขี้ครอก
วันที่ 4 สิงหาคม 2559

Urena lobata L.

Malvaceae

ไม้พุ่มเตี้ย สูงได้ถึง 1 ม. มีขนรูปดาวสั้นนุ่มตามกิ่ง แผ่นใบด้านล่าง ก้านใบ ริ้วประดับ กลีบเลี้ยง และผล หูใบรูปเส้นด้าย ร่วงเร็ว ใบเรียงเวียน รูปร่างหลายแบบ ยาว 4–7 ซม. บางครั้งจัก 3 พู ขอบจักฟันเลื่อย ก้านใบสั้น ดอกออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นกระจุกตามซอกใบ ก้านดอกสั้น ริ้วประดับ 5 อัน ยาวประมาณ 6 มม. เชื่อมติดกันประมาณหนึ่งในสาม ติดทน กลีบเลี้ยงรูปถ้วย มี 5 กลีบ สั้นกว่าริ้วประดับเล็กน้อย ดอกสีชมพูอมแดง มี 5 กลีบ รูปไข่กลับ ยาวได้ถึง 1.5 ซม. มีก้านสั้น ๆ เส้าเกสรยาวประมาณ 1.5 ซม. อับเรณูจำนวนมาก ก้านเกสรเพศเมียแยกเป็น 10 แฉก มีขน ยอดเกสรรูปจาน ผลแห้งแยกเป็น 5 ซีก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. มีหนามปลายเป็นตะขอ มีเมล็ดเดียว

พบที่บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย จีน ไต้หวัน พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและ มาเลเซีย มีความผันแปรสูง โดยเฉพาะรูปร่างใบ สิ่งปกคลุม ขนาดริ้วประดับ และกลีบดอก บางครั้งถูกจำแนกเป็นหลายชนิดย่อยและมีชื่อพ้องจำนวนมาก หรือบางชนิดถูกจัดให้อยู่ภายใต้สกุล Pavonia หรือ Triumfetta ทุกส่วนมีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่าง

สกุล Urena L. อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Malvoideae เผ่า Hibisceae มีประมาณ 10 ชนิด ในไทยมี 4 ชนิด ชื่อสกุลเป็นภาษา Malabar ในอินเดียที่ใช้เรียกขี้ครอก

ชื่อสามัญ  Caesarweed, Urena burr

ชื่ออื่น   ขมงดง (สุโขทัย); ขี้ครอก (ภาคกลาง); ชบาป่า (น่าน); บอเทอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ปอเส้ง (ปัตตานี); ปะเทาะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ปูลุ (มาเลย์-นราธิวาส); เส้ง (ภาคใต้); หญ้าผมยุ่ง (ภาคเหนือ); หญ้าหัวยุ่ง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน); หญ้าอียู (ภาคเหนือ)

ขี้ครอก: ริ้วประดับเชื่อมติดกันประมาณหนึ่งในสาม ติดทน เกสรเพศผู้เชื่อมติดกันเป็นเส้าเกสร ก้านเกสรเพศเมียแยก 10 แฉก ผลมีหนามปลายเป็นตะขอ ริ้วประดับติดทน (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล, ราชันย์ ภู่มา)

ขี้ครอก
วันที่ 1 มีนาคม 2559

Xanthium strumarium L.

Asteraceae

ดูที่ กระชับ



เอกสารอ้างอิง

Tang, Y., M.G. Gilbert and L.J. Dorr. (2007). Malvaceae. In Flora of China Vol. 12: 281.