สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ขิง

ขิง  สกุล
วันที่ 4 สิงหาคม 2559

Zingiber Mill.

Zingiberaceae

ไม้ล้มลุก เหง้าแตกแขนงมีกลิ่นหอม ใบเรียงสลับระนาบเดียวกัน ช่อดอกออกจากเหง้าหรือลำต้น รูปโคนกว้างหรือรูปกระสวย กาบเป็นแผ่นคล้ายเกล็ด ใบประดับเรียงซ้อนเหลื่อมชิดกัน แต่ละใบประดับมีดอกเดียว ใบประดับย่อยไม่เป็นหลอด กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอดแยกด้านเดียว ปลายจักตื้น ๆ 3 จัก หลอดกลีบดอกเรียวยาว กลีบดอก 3 กลีบ กลีบคู่ข้างเรียวแคบ แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันด้านข้างแนบติดกลีบปากดูคล้ายกลีบปากมี 3 กลีบ กลีบปากปลายมักเว้าตื้น ก้านชูอับเรณูสั้น แกนอับเรณูเป็นสันหุ้มเกสรเพศเมีย รังไข่มี 3 ช่อง ผลแห้งแตกเป็น 3 ซีก เมล็ดมีเยื่อหุ้มสีขาว จักชายครุย

สกุล Zingiber มีประมาณ 100 ชนิด ส่วนมากพบในเอเชียเขตร้อนหรือกึ่งเขตร้อน ในไทยคาดว่ามีพืชพื้นเมืองถึง 60 ชนิด ส่วน ขิง Z. officinale Roscoe ไพล Z. montanum (J. Koenig) Link ex A. Dietr. กระทือ Z. zerumbet (L.) Roscoe ex Sm. และไพลดำ Z. ottensii Valeton เป็นพืชต่างถิ่น ซึ่ง 3 ชนิดแรก เข้าใจว่ามีถิ่นกำเนิดในอินเดีย ส่วนชนิดสุดท้ายมีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคมาเลเซีย ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “zingiberis” ที่ใช้เรียกพวกขิงข่า

ไพล: (ภาพบน) ใบเรียวแคบ ใบประดับสีน้ำตาล ขอบสีเขียว มีขนสั้นนุ่ม; กระทือ: (ภาพล่าง) ใบประดับสีเขียว ขอบบาง ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นสีแดง กลีบปากสีเหลือง (ภาพ: John Mood)

ขิงเขาหลวง
วันที่ 4 สิงหาคม 2559

Zingiber newmanii Theilade & Mood

Zingiberaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 3 ม. มีขนที่โคนกาบใบถึงก้านใบ ลิ้นกาบ เส้นกลางใบด้านล่าง ลิ้นกาบยาวประมาณ 1 ซม. ปลายจัก 2 พู ใบรูปขอบขนาน ยาว 40–50 ซม. ก้านใบยาวประมาณ 3 มม. ช่อดอกออกจากเหง้า ก้านช่อยาว 5–15 ซม. กาบดอกสีแดง ช่อดอกรูปไข่ ยาว 10–16 ซม. ใบประดับสีแดงรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 5 ซม. ใบประดับย่อยรูปรี ยาวประมาณ 3 ซม. กลีบเลี้ยงรูปทรงกระบอก ยาวประมาณ 3.3. ซม. ดอกสีขาว รูปขอบขนาน กลีบหลังยาวประมาณ 2 ซม. กลีบข้างยาวประมาณ 1.8 ซม. กลีบปากสีม่วงมีจุดสีครีมกระจาย ยาวประมาณ 1.3 ซม. แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันยาวประมาณ 7 มม. อับเรณูสีครีม สันสีม่วง

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคใต้ที่ระนอง นครศรีธรรมราช และตรัง ขึ้นตามป่าดิบชื้น และที่โล่ง ความสูง 150–400 เมตร

ขิงเขาหลวง: กาบดอกสีแดง ช่อดอกรูปไข่ กลีบปากสีม่วง มีจุดสีครีมกระจาย (ภาพ: John Mood)

ขิงไกรลาศ
วันที่ 4 สิงหาคม 2559

Zingiber larsenii Theilade

Zingiberaceae

ดูที่ ขิงลาร์เซน

ขิงลาร์เซน
วันที่ 4 สิงหาคม 2559

Zingiber larsenii Theilade

Zingiberaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 1 ม. โคนกาบใบมีขนที่โคนก้านใบ ลิ้นกาบยาวประมาณ 1 ซม. ปลายจัก 2 พู ใบรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 25–30 ซม. แผ่นใบมักมีปื้นแดงด้านล่าง มีขนคล้ายไหมตามเส้นกลางใบและขอบใบ ก้านใบยาวประมาณ 5 มม. ช่อดอกออกจากเหง้า ก้านช่อยาว 5–15 ซม. ช่อดอกรูปไข่ ยาว 6–7 ซม. ใบประดับรูปใบหอก ยาวได้ถึง 3.2 ซม. สีแดงอมส้ม ปลายมีขน ใบประดับย่อยรูปใบหอก ยาวได้ถึง 2.7 ซม. กลีบเลี้ยงรูปทรงกระบอก ยาวประมาณ 1.8 ซม. กลีบดอกสีชมพูหรือส้มอมแดง ยาวได้ถึง 7.5 ซม. กลีบหลังรูปใบหอก ยาวประมาณ 3 ซม. กลีบข้างรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 2 ซม. กลีบปากยาวประมาณ 2 ซม. ปลายจัก 3 พู ตื้น ๆ แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันรูปรีกว้าง ยาวประมาณ 8 มม.

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคเหนือที่เชียงใหม่ และน่าน ขึ้นตามป่าดิบเขา ความสูง 1400–1700 เมตร คำระบุชนิดตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวเดนมาร์ก อดีตบรรณาธิการร่วมหนังสือพรรณพฤกษชาติของประเทศไทย Prof. Kai Larsen (1926–2012)

ชื่ออื่น   ขิงไกรลาศ, ขิงลาร์เซน (ทั่วไป)

ขิงลาร์เซน: ใบประดับและกลีบดอกสีแดงอมส้ม ปลายกลีบปากจัก 3 พู ตื้น ๆ (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

ขิงหยก
วันที่ 4 สิงหาคม 2559

Zingiber olivaceum Mood & Theilade

Zingiberaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 2 ม. มีขนประปรายตามกาบใบ เส้นกลางใบด้านล่าง ลิ้นกาบยาวประมาณ 1 ซม. ปลายตัด ใบรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 25–30 ซม. ก้านใบยาวประมาณ 3 มม. ช่อดอกออกจากเหง้า ก้านช่อยาว 45–60 ซม. กาบสีน้ำตาลอมแดง ช่อดอกรูปไข่ ยาว 10–18 ซม. มีเมือกเหนียว ใบประดับสีน้ำตาลอมเขียว มีจุดสีชมพูละเอียด รูปไข่กลับ ยาว 3.5–4 ซม. ปลายกลม ม้วนเข้า ใบประดับย่อยรูปรี ยาวประมาณ 3.5 ซม. มีขน กลีบเลี้ยงรูปทรงกระบอก ยาวประมาณ 3 ซม. กลีบดอกสีครีมมีปื้นสีม่วง รูปขอบขนาน กลีบหลังยาวประมาณ 3 ซม. กลีบข้างแคบกว่าเล็กน้อย กลีบปากมีรอยด่างสีม่วงกระจาย ยาวประมาณ 2 ซม. แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันยาวประมาณ 7 มม. อับเรณูสีเหลือง สันสีม่วง

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคใต้ที่นครศรีธรรมราช ขึ้นตามป่าดิบชื้น ความสูงประมาณ 500 เมตร

ขิงหยก: ใบประดับสีน้ำตาลอมเขียว ปลายกลม ม้วนเข้า กลีบปากมีรอยด่างสีม่วง (ภาพ: John Mood)

ขิงกระต่าย
วันที่ 3 กรกฎาคม 2560

Zingiber junceum Gagnep.

Zingiberaceae

ดูที่ ว่านหยกอีสาน

ขิงทราย
วันที่ 1 มีนาคม 2559

Boesenbergia rotunda (L.) Mansf.

Zingiberaceae

ดูที่ กระชาย



เอกสารอ้างอิง

Theilade, I. (1999). A synopsis of the genus Zingiber (Zingiberaceae) in Thailand. Nordic Journal of Botany 19(4): 389–410.

Theilade, I. and J. Mood. (2002). New gingers from SE Asia. New Plantsman n.s. Vol. 1: 18–19.

Triboun, P., K. Larsen and P. Chantaranothai. (2014). A key to the genus Zingiber (Zingiberaceae) in Thailand with descriptions of 10 new taxa. Thai Journal of Botany 6(1): 53–77.