ไม้พุ่มรอเลื้อย สูงได้ถึง 5 ม. แยกเพศต่างต้นแกมดอกสมบูรณ์เพศ มีขนสั้นนุ่มตามกิ่งอ่อน ก้านใบ แผ่นใบด้านล่าง ช่อดอก และกลีบเลี้ยง ใบเรียงเวียน รูปรีหรือรูปไข่กลับ ยาว 6–15 ซม. ขอบเรียบหรือจักซี่ฟันตื้น ๆ ก้านใบยาว 0.5–1.5 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกเป็นกระจุก 1–3 ช่อ ช่อดอกเพศผู้ยาว 4–13 ซม. บางครั้งแยกแขนง ช่อดอกเพศเมียยาว 1–7 ซม. ดอกสีเขียวอ่อนหรือขาว ก้านดอกยาว 1.5–2 ซม. กลีบเลี้ยง 4–5 กลีบ รูปไข่แกมรูปขอบขนานขนาดเล็ก มีต่อมประปราย ขอบมีขนครุย กลีบดอกเชื่อมติดกันที่โคน มี 4–5 กลีบ รูปขอบขนาน ยาวประมาณ 2.5 มม. ด้านในมีปุ่มและต่อมสีน้ำตาลดำกระจาย พับงอกลับ เกสรเพศผู้ 4–5 อัน ติดที่โคนกลีบดอก ยาวเท่า ๆ กลีบดอก อันที่เป็นหมันติดประมาณกลางกลีบดอก เกือบไร้ก้านชูอับเรณู รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียสั้น ผลผนังชั้นในแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 มม. มีเมล็ดเดียว
พบที่อินเดีย เนปาล ศรีลังกา พม่า และภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบกระจายห่าง ๆ ยกเว้นภาคใต้ ขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบเขา ความสูงถึงประมาณ 1300 เมตร ผลและเมล็ดบดใช้ถ่ายพยาธิ
สกุล Embelia Burm.f. เดิมอยู่ภายใต้วงศ์ Myrsinaceae มีประมาณ 140 ชนิด พบในแอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยมี 13 ชนิด ชื่อสกุลมาจากชื่อพื้นเมืองในศรีลังกา “aembelia” ที่ใช้เรียกพืชในสกุลนี้
|