สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ขยุ้มตีนหมา

ขยุ้มตีนหมา
วันที่ 29 กรกฎาคม 2559

Ipomoea pes-tigridis L.

Convolvulaceae

ไม้เถาล้มลุก มีขนสากตามลำต้น กิ่ง แผ่นใบทั้งสองด้าน วงใบประดับ และกลีบเลี้ยง ใบรูปฝ่ามือ มี 5–9 พู กว้างยาวได้ถึง 13 ซม. โคนเว้าลึก พูรูปรีหรือรูปขอบขนาน โคนเชื่อมติดกันเป็นแผ่น ก้านใบยาว 2–8 ซม. ช่อดอกแบบกระจุกแน่นออกตามซอกใบ ก้านยาว 4–11 ซม. ใบประดับวงนอกรูปขอบขนาน ยาว 2–2.5 ซม. วงในขนาดเล็กและแคบกว่า ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยงรูปใบหอก ยาว 1–1.4 ซม. ดอกรูปลำโพง สีขาว บานตอนกลางคืน ยาว 3–4 ซม. ผลแห้งแตก รูปไข่ ยาวประมาณ 7 มม. แตกเป็น 4 ซีก เมล็ดรูปรี ยาวประมาณ 4 มม. มีขน (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ ผักบุ้ง, สกุล)

พบที่แอฟริกา อินเดีย ปากีสถาน เนปาล ศรีลังกา พม่า จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ นิวกินี ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามที่โล่ง ชายป่า ป่าเสื่อมโทรม ความสูงถึงประมาณ 300 เมตร ทั้งต้นบดใช้ระงับพิษสุนัขบ้า ใบบดละเอียดพอกปากแผล ฝี หรือสิว

ชื่ออื่น   ขยุ้มตีนหมา (เชียงใหม่); เถาสายทองลอย (สิงห์บุรี); เพาะละบูลู (มาเลย์-ยะลา)

ขยุ้มตีนหมา: มีขนสากหนาแน่นทั่วไป ใบรูปฝ่ามือ มีวงใบประดับ กลีบดอกรูปลำโพง (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ, ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Staples, W.G. (2010). Convolvulaceae. In Flora of Thailand Vol. 10(3): 421–422.