ไม้ล้มลุก ทอดนอน แยกเพศร่วมต้น ลำต้นและใบอวบน้ำ เกลี้ยง มีผลึกซิสโทลิทหนาแน่น หูใบเป็นเยื่อบางขนาดเล็ก ติดทน ใบเรียงตรงข้ามขนาดไม่เท่ากัน รูปรีหรือรูปไข่กลับ ยาว 2–7 มม. ปลายมน แผ่นใบด้านล่างมีผลึกซิสโทลิทเป็นขีดกระจาย เส้นแขนงใบไม่เด่นชัด ก้านใบยาว 1–4 มม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกอัดแน่นตามซอกใบ แต่ละช่อมีได้ถึง 15 ดอก ก้านช่อยาวได้ถึง 6 มม. หรือไร้ก้าน ดอกขนาดเล็ก ดอกเพศผู้ กลีบรวม 3–4 กลีบ รูปไข่ เกสรเพศผู้ 3–4 อัน ดอกเพศเมีย กลีบรวม 3 กลีบ รูปขอบขนาน ยาวเท่า ๆ ผล เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันคล้ายเกล็ด ยอดเกสรเพศเมียคล้ายขนแปรง ผลแห้งเมล็ดล่อน รูปไข่ ยาว 0.4–0.5 มม. ผิวเรียบ มีวงกลีบรวมหุ้ม
มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ เป็นวัชพืชทั่วไป ความสูงถึงประมาณ 1000 เมตร
สกุล Pilea Lindl. มีประมาณ 400 ชนิด พบในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน ในไทยมีมากกว่า 10 ชนิด และมีไม้ประดับหลายชนิด เช่น สะระแหน่ประดับ P. nummulariifolia (Sw.) Wedd. มีถิ่นกำเนิดแถบแคริบเบียน และนกกระทา P. cadierei Gagnep. & Guillaumin มีถิ่นกำเนิดในจีนและเวียดนาม ชื่อสกุลมาจากภาษาละติน “pileus” หรือ “pilleus” หมวก หรือภาษากรีก “pilos” หมวก ตามลักษณะดอกเพศเมีย หรือกลีบเลี้ยงที่หุ้มผล
|