Index to botanical names
ก่อดำ
Fagaceae
ไม้ต้น แยกเพศร่วมต้น ช่อดอกเพศเมียออกที่โคนช่อเพศผู้หรือแยกกัน กิ่งมีช่องอากาศ ตายอดมีเกล็ดเรียงซ้อนเหลื่อม ส่วนมากมีขนสั้นนุ่มตามกิ่งอ่อน แผ่นใบด้านล่าง ก้านใบ ช่อดอก ใบประดับ และกลีบรวม หูใบร่วงง่าย ใบเรียงเวียน ปลายใบส่วนมากแหลมยาว แผ่นใบด้านล่างสีอ่อนหรือมีนวล เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได ขอบใบส่วนมากเรียบ ช่อดอกเพศผู้แบบช่อหางกระรอก ส่วนมากตั้งขึ้น ใบประดับและใบประดับย่อยขนาดเล็ก ร่วงเร็ว กลีบรวม 6 กลีบ ขนาดเล็ก ดอกเพศผู้ออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นกระจุก เกสรเพศผู้ 10–12 อัน ส่วนมากเกลี้ยง รังไข่ที่เป็นหมันส่วนมากมีขนยาว ดอกเพศเมียออกเป็นกระจุก หรือออกเดี่ยว ๆ ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม รังไข่ใต้วงกลีบ มี 3–6 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 2 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียส่วนมากมี 3 อัน ผลแบบเปลือกแข็งเมล็ดเดียวมีกาบหุ้ม เชื่อมติดกันหรือแยกกัน ส่วนมากไร้ก้าน ใบประดับคล้ายเกล็ดเรียงหนาแน่น หรือเรียงเป็นชั้น ๆสกุล Lithocarpus มีประมาณ 300 ชนิด ส่วนใหญ่พบในเอเชียเขตร้อน ในไทยมี 58 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “litho” หิน และ “karpos” ผล ตามลักษณะผลที่แข็งคล้ายหิน
ไม้ต้น สูงได้ถึง 15 ม. ใบรูปขอบขนานหรือแกมรูปไข่กลับ ยาว 7–15 ซม. ก้านใบยาว 0.5–1 ซม. ช่อดอกยาว 9–20 ซม. ผลรูปไข่กว้าง กว้าง 3–4 ซม. สูง 2–2.5 ซม. รวมกาบ โคนแบน ปลายรูปกรวย ผิวมีนวล กาบหุ้มผลเฉพาะช่วงโคน เกล็ดเชื่อมติดกันเรียงเป็นชั้น หรือ 5–7 วงพบที่อินเดีย พม่า และภูมิภาคมาเลเซีย ในไทยพบทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่จันทบุรี และภาคใต้ที่สงขลา นราธิวาส ขึ้นตามป่าดิบชื้น ความสูงระดับต่ำ
ชื่อพ้อง Quercus lucidus Roxb.
ชื่ออื่น ก่อดำ, มะก่อดำ (จันทบุรี)
ก่อดำ: ผลรูปไข่กว้าง กาบหุ้มผลเฉพาะช่วงโคน ผิวมีนวล เกล็ดเชื่อมติดกันเรียงเป็นชั้น หรือ 5–7 วง (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)
ไม้ต้น สูงได้ถึง 20 ม. ใบรูปขอบขนาน รูปใบหอก หรือรูปใบหอกกลับ ยาว 12–29 ซม. ก้านใบยาว 1–2 ซม. ช่อดอกยาว 5–15 ซม. ส่วนมากแตกแขนง ผลรูปกรวย กว้าง 2.5–3.5 ซม. สูง 2–3 ซม. รวมกาบ กาบหุ้มผลเกือบตลอดผลยกเว้นช่วงปลาย เชื่อมติดกันที่โคนหรือแยกกัน เกล็ดเชื่อมติดกัน มีขนสั้นนุ่มพบที่อินเดีย จีนตอนใต้ พม่า ลาว และเวียดนาม ในไทยพบกระจายห่าง ๆ ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามป่าสนเขาและป่าดิบเขา ความสูง 900–1300 เมตร
ชื่อพ้อง Quercus truncata King ex Hook.f.
ชื่ออื่น ก่อเกล็ดดำ, ก่อข้าว, ก่อดำ (เลย); ก่อดูก (เชียงใหม่, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
ก่อดำ: ช่อดอกแบบช่อหางกระรอก แยกแขนง กาบหุ้มผลเกือบตลอดความยาว เชื่อมติดกันที่โคนหรือแยกกัน เกล็ดเชื่อมติดกัน (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)
Huang, C., Y. Zhang and B. Batholomew. (1999). Fagaceae. In Flora of China Vol. 4: 333, 343, 349.
Phengklai, C. (2008). Fagaceae. In Flora of Thailand Vol. 9(3): 243–351.